วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2560

บทความ

ศึกษาวิเคราะห์การบริหารองค์กรเชิงพุทธ
ของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
AN ANALYTICAL STUDY ON ADMINISTRATION IN BUDDHIST APPROACHES OF ECCLESIASTIC IN NAKHON SI THAMMARAT.
นางสาวกฤษฎาพร  วิเศษ**ดร. ปัณณพงศ์  วงศ์ณาศรี***
หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชารัฐศาสตร์การปกครอง
KRITSADAPORN** WISET DR. PANNAPONG WONGNASI***
**********************************
บทคัดย่อ
            บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาแนวคิด และทฤษฎีทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารองค์กร 2) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารองค์กรเชิงพุทธ 3) เพื่อวิเคราะห์การบริหารองค์กรเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือ พระสังฆาธิการในเขตการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดนครศรีธรรมราช และนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และการบริหารองค์กร รวมทั้งหมดจำนวน 10 รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์เจาะลึก (In-depth Interview) โดยนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาข้อมูลและการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์หลักการบริหารองค์กรเชิงพุทธ และนำเสนอผลการวิจัยโดยการบรรยายสรุปแบบพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis) เพื่อแสวงหาองค์ความรู้ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย
            ผลการวิจัยพบว่า
            1) การบริหารเป็นการใช้ศาสตร์และศิลป์ในการนำเอาทรัพยากรขององค์กร มาประกอบเป็นกระบวนการบริหาร โดยอาศัยปัจจัยหลัก คือ เงิน บุคคล วัสดุสิ่งของ วิธีการในการบริหารจัดการ (4M) ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือ การประหยัดงบประมาณ และมีความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อสร้างความเจริญมั่นคงให้กับองค์กร โดยมีกระบวนการทางการบริหาร 5 ประการ คือ การวางแผน (Planning)  การจัดองค์การ (Organizing) การบังคับบัญชาสั่งการ (Commanding) การประสานงาน (Coordinating) และการควบคุม (Controlling)
            2) การบริหารองค์กรเชิงพุทธ เป็นการใช้หลักการบริหารที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ในการบริหารคณะสงฆ์ มาบูรณาการใช้ร่วมกับวิทยาการบริหารองค์กรสมัยใหม่ เพื่อประกอบเป็นกระบวนการบริหาร ให้การใช้ปัจจัยทางการบริหาร คือ เงิน บุคคล วัสดุสิ่งของ วิธีการในการบริหารจัดการเกิดประสิทธิภาพ ซึ่งมีลักษณะเป็นการดำเนินงานร่วมกันของกลุ่มบุคคล โดยอาศัยหลักเหตุผล ความร่วมมือร่วมใจ ซึ่งเป็นการบริหารที่มุ่งเน้นการสร้าง และพัฒนาพฤติกรรม ของบุคลากรในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ อย่างเหมาะสมตามความสามารถของแต่ละบุคคล
            3) พระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารเชิงพุทธ คือ (1) การบริหารตน ให้บริบูรณ์พร้อมด้วยธรรมวินัย และมีความเพียรในการปฏิบัติตนตามหลัก สัมมัปปธาน 4 คือ การมุ่งมั่นทำความชอบ 4 ประการ (2) บริหารคน คือ การบริหารเพื่อสร้างศรัทธา ความรักเคารพในตัวผู้บริหาร โดยใช้หลักเมตตา เป็นเครื่องยึดเหนียวน้ำใจคน และ(3) บริหารงาน คือ การนำหลักพุทธธรรมไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารเพื่อปรับพฤติกรรมของบุคคลากรให้เป็นไปในทิศทางที่ดี การปฏิบัติงานภายในองค์กรเป็นรูปแบบของการ ประสานงาน สอดคล้อง และร่วมแรงร่วมใจกันทำหน้าที่ในการป้องกัน บำบัด บำรุง รักษาองค์กร  ช่วยให้ดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบ รอบด้าน และผลจากความเพียรชอบก็จะสร้างสรรค์พัฒนาการบริหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดความสามัคคีกันภายในองค์กร และทำให้บุคลากรในพุทธศาสนามีความสุขในการปฏิบัติงานร่วมกันการบริหารองค์กรเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นการบริหาร แบบ 5M ได้แก่ M1 (Moral : คุณธรรม), M2 (Man : บุคคล), M3 (management : การจัดการ), M4 (Money : เงิน), M5 (materials : วัสดุอุปกรณ์) โดยให้ความสำคัญ กับหลักคุณธรรมเป็นอันดับแรก และน้อมนำหลักพุทธธรรมไปใช้ในการบริหาร ได้แก่ นำหลักสัปปุริสธรรม 7 และหลักอปริหารนิยธรรม 7 ไปใช้ในการพิจารณาวางแผนการปฏิบัติงานนำหลักอคติ 4 หลักสัปปุริสธรรม 7 และหลักอปริหารนิยธรรม 7 ไปใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ให้ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการ, นำหลักสาราณียธรรม 6 หลักพรหมวิหาร 4 และหลักสังคหวัตถุ 4 ไปใช้ในการ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพระภิกษุ สามเณรในการปกครอง, นำหลัก 4 ส. หลักสาราณียธรรม 6 อปริหานิยธรรม 7 หลักคารวะธรรม และหลักขันติธรรม ไปใช้ในการอำนวยการ และประสานการทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในเป้าหมายในการปฏิบัติภารกิจของพุทธศาสนา, นำหลักทศพิธราชธรรม 10 หลักพรหมวิหาร 4 และอิทธิบาท 4 ไปใช้ในการการตรวจสอบปัญหา ความคืบหน้าในการปฏิบัติงาน รวมถึงการฝึก สอน และคอยดูแลบุคคลากรในองค์กร

คำสำคัญ : ศึกษาวิเคราะห์, การบริหารเชิงพุทธ, พระสังฆาธิการ

Abstract
            The objectives of this research were as follows 1) to study the general concepts and theory about Administration. 2) to study the concepts on Buddhistic administration. 3) to study the administration in Buddhist approaches of ecclesiastic in Nakhon Si Thammarat province. This is the qualitative research, the population were ecclesiastic and political scholar and totally 10 persons and the instrument composed of in-dept interview from key informants data analysis by descriptive for modify the Buddhist administration model.
            The findings were as follows
            1) Management is the use of science and art to bring corporate resources. It is a management process. Personnel, materials, methods of management (4M) to achieve objectives effectively and effectively. To create stability for the organization. There are five administrative processes: planning, organization Organizing, Commanding, Coordinating, Controlling,
            2) The Buddhist administration is the administration of the Lord Buddha in the management of the ecclesiastic. To integrate with modern enterprise management. To serve as a management process. To achieve the use of administrative factors such as personal money, materials, methods of management of the organization to achieve the objectives set effectively. By setting operational objectives. This is a joint operation. By reason Collaboration of people this is a pretty good administration. And effective
            3) The Buddhist administration of ecclesiastic in Nakhon Si Thammarat is the responds argued that the Buddhist administration mean; (1) The self-management on Dhamma and Vinaya and try to practice on Padhana 4 (effort) i.e. try to do right exertion four things. (2) Personel administration i.e. to make faith in administrator with mercy for reconciliation (3) Job administration i.e. to bring Buddhist principle for adapt personel in a good way and cooperate in organization to achieve the goal of organization for all works to create in administrative management as officially. the 5M model. i.e. 1. Moral 2. Man 3. Management 4. Money and 5. Material by the way the first M is the most important and bring the Buddhadhamma for administration i.e.Sappurisadhamma 7, Aparihaniyadhamma 7 for job planning. Agati 4, Sappurisadhamma7 and Aparihaniyadhamma 7 for selection of ecclesiastic to work on administration, Saraniyadhamma 6, Bramhma Vihara 4, and Sanggha Vatthu 4 for making a good relation eachers. The 4 S principle, Saraniyadhamma 6, Aparihaniyadhamma 7, Garavadhamma and Khanti Dhamma for cooperation in reconciliation of any affair, Rajadhamma 10, Bramhma Vihara 4, Iddhipada 4, for investigation of problem, progression throughout training, teaching, and taking care of monks and novice.

KEYWORDS: ANALITICAL STUDY/ BUDDHISTIC ADMINISTRATION/ ECCLESIASTIC
1.บทนำ
            ปัจจุบันการบริหารองค์กรทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนต่างก็ให้ความสำคัญกับการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ โดยการนำแนวคิด และทฤษฎีการบริหารแบบตะวันตกไปใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อตอบสนองนโยบายด้านการพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศไทยเริ่มนำแนวคิด และทฤษฎีด้านการบริหารแบบตะวันตก เข้ามาใช้ในการบริหารตั้งแต่สมัย จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  ที่ได้นำเข้ามาใช้เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ผลลัพธ์จากการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้สังคมเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด ประชาชนให้ความสำคัญกับศีลธรรม และคุณค่าทางจิตใจน้อยลง มีการแก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น  การฉ้อราษฎร์บังหลวงก้าวหน้าชนิดที่ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ จนกลายเป็นเทคนิคการอยู่รอดในสังคมยุคใหม่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้ทำการสำรวจและออกมายอมรับว่า แม้กระทั้งการบริหารงานของภาครัฐในทุกภาคส่วนของสังคมยังคงมีความบกพร่องและขาดประสิทธิภาพรวมถึงมีการกระทำผิดทุจริตและขาดจริยธรรม (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), 2552 หน้า 1) ซึ่งบางคนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับสะท้อนให้เห็นว่าค่านิยมของคนในสังคมไทยกำลังเปลี่ยนไปสู่ความเสื่อม เพราะความเจริญทางวัตถุ สาเหตุแห่งความเสื่อมเหล่านี้ล้วนเป็นเพราะความต้องการแสวงหาความมั่นคงทางวัตถุ จนถึงขนาดใช้วิธีการที่ผิดศีลธรรม สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น นักวิชาการหลายท่านเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ อยู่ที่ผู้ปฏิบัติงานและระบบการปฏิบัติงาน ซึ่งจุดอ่อนแท้จริงอยู่ที่ขาดแคลนผู้นำผู้บริหารที่ดี (นิตย์ สัมมาพันธ์, 2529, หน้า 39-40)
            การบริหารเชิงพุทธ คือ แนวทางการประยุกต์พุทธวิธีการบริหาร  และหลักพุทธธรรมไปใช้ในการสร้างกระบวนการบริหารที่ก่อให้เกิดความเหมาะสมทางด้านพฤติกรรมของบุคลากรในองค์กร ซึ่งประกอบด้วยระเบียบ และวิธีการแก้ปัญหาที่ต้องอาศัยข้อเท็จจริง หลักเหตุผล และกฎเกณฑ์อย่างเหมาะสม (พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), 2535, หน้า 48) โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากนักบริหารองค์กร เช่น  องค์กรคณะสงฆ์  มหาวิทยาลัยสงฆ์ วัด หน่วยงานการกุศล มูลนิธิ ที่มีการนำหลักพุทธธรรมไปใช้ในการบริหารงาน (บุศรา โพธิสุข, 2559, หน้า 193) ซึ่งในปัจจุบัน ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งองค์กรเอกชนยังมีการนำแนวคิดการบริหารเชิงพุทธไปใช้ในการบริหารองค์กร ซึ่งหลักการบริหารองค์กรในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงบริหารภิกษุสงฆ์ หรือที่เรียกกันว่าคณะสงฆ์ โดยพระพุทธองค์ดำรงตำแหน่ง ธรรมราชาเป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร และทรงวางแนววิธีในการบริหารว่าผู้บริหารเองจะต้องประพฤติธรรมและใช้ธรรมเป็นหลักในการบริหาร จึงกล่าวได้ว่าการบริหารแบบพุทธมีหลักการสำคัญ คือ ผู้นำหรือผู้บริหาร ซึ่งผู้บริหารแบบพุทธจะต้องเป็นผู้มีคุณธรรม และต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง  โดยพึงสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม คือ มีคุณธรรมในการปกครองตนเอง แล้วจึงใช้หลักคุณธรรมในปกครององค์กร เพราะถ้าไม่มีความสามารถปกครองตนเองได้แล้ว ก็ย่อมไม่สามารถปกครองคนอื่น ได้ ดังที่มีพุทธพจน์ไว้ว่า

            บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณธรรมที่เหมาะสมก่อน แล้วสอนคนอื่นในภายหลัง จึงจะไม่มัวหมอง บุคคลสอนผู้อื่นอย่างไร ก็พึงทำตนอย่างนั้น ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว จึงควรฝึก (ผู้อื่น) เพราะตนนั้นแลฝึกได้ยาก” (ขุ.ธ.(ไทย) 25/158159/8182)

            จากพุทธพจน์นี้จึงกล่าวได้ว่าพระสังฆาธิการซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำผู้ปกครองดูแลคณะสงฆ์ในเขตปกครองและวัดให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ และพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช มีหน้าที่ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์  จัดการและพัฒนาศาสนาและสร้างความเชื่อมโยงบูรณาการทุกด้านให้สัมพันธ์กับสังคมของบรรพชิตและคฤหัสถ์ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการบริหาร จัดการองค์กรทางพระพุทธศาสนา  รวมทั้งความเคลื่อนไหวขององค์กรที่เกิดขึ้นและสัมพันธ์กับองค์กรอื่น (ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา, 2545 หน้า 3) เป็นผู้เพียบพร้อมด้วย สีลสามัญญตา และทิฎฐิสามัญญตา เป็นพระสังฆาธิการจึงมีความสำคัญต่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา อีกทั้งเป็นผู้มีความรอบรู้ทั้ง หลักการบริหารองค์กรและหลักธรรมในพุทธศาสนาไปพร้อมกัน  จึงทำให้คณะสงฆ์มีความเรียบร้อยดีงามเป็นแบบอย่างแก่พุทธศาสนิกชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช พระพุทธศาสนายังคงมีความเจริญรุ่งเรืองและดำรงอยู่คู่กับสังคมชาวพุทธในจังหวัดนครศรีธรรมราชมาอย่างยาวนาน ประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง  ต่างมีความยินดีในการส่งบุตรหลานของตนให้บวชเรียนอยู่ในพุทธศาสนาสะท้อนให้เห็นว่าคณะสงฆ์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช  มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น มีความรักใคร่ปรองดองกันในหมู่คณะ  จึงสามารถต่อสู่กับสภาวะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์ได้เป็นอย่างดี  พระสังฆาธิการในจังหวัดนครศรีธรราราชย่อมมีศักยภาพในการบริหารองค์กร และเป็นผู้บริหารองค์กรที่ประกอบด้วยหลักคุณธรรมอันเป็นลักษณะของการบริหารเชิงพุทธ ผู้วิจัยเห็นว่าหลักการบริหารที่พระสังฆาธิการในจังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้ในการบริหารคณะสงฆ์  น่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการบริหารองค์กรอื่น ๆ ได้ ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
            ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาเรื่อง ศึกษาวิเคราะห์การบริหารองค์กรเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช”  เพื่อนำผลการวิจัยที่ได้ไปใช้เป็นแบบอย่างในการพัฒนาระบบบริหารแก่องค์กรอื่น ๆ และใช้ในการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการบริหารในระดับสังคมและระดับประเทศ ต่อไป

2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
            1. เพื่อศึกษาแนวคิด และทฤษฎีทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารองค์กร
            2. เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารองค์กรเชิงพุทธ
            3. เพื่อศึกษาวิเคราะห์หลักการบริหารองค์กรเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช

3. ขอบเขตการวิจัย
            3.1 ขอบเขตด้านเนื้อหา การศึกษาวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นศึกษาวิเคราะห์การนำหลักพุทธวิธีการบริหารไปใช้ในการบริหารองค์กรคณะสงฆ์ของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยกำหนดขอบข่ายในการศึกษา คือ การวางแผน การจัดองค์การ การบริหารงานบุคคล การอำนวยการ และการควบคุมดูแล
            3.2 ขอบเขตด้านประชากร การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์โดยการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์ โดยมีประชากรที่ใช้ในการสัมภาษณ์ 2 กลุ่ม ประกอบด้วย พระสังฆาธิการในเขตการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดนครศรีธรรมราช และนักวิชาการที่มีความชำนาญด้านรัฐศาสตร์และการบริหารองค์กรจำนวน 10 รูป/คน 
            3.3 ขอบเขตด้านระยะเวลา ผู้ศึกษาวิจัยใช้ระยะเวลาในการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ช่วงเดือน มกราคม ถึง พฤษภาคม พ.ศ.2560
            3.4 ขอบเขตด้านพื้นที่ การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยศึกษาเฉพาะพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เท่านั้น

4.วิธีดำเนินการวิจัย
       4.1 ประชากรที่ใช้ในการวิจัยมี 2 กลุ่ม ประกอบด้วย พระสังฆาธิการในเขตการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดนครศรีธรรมราช และนักวิชาการที่มีความชำนาญด้านรัฐศาสตร์และการบริหารองค์กร
            4.2 กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย จำนวน 10 รูป/คน แบ่งเป็นพระสังฆาธิการในเขตการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 8 รูป และนักวิชาการที่มีความชำนาญด้านรัฐศาสตร์และการบริหารองค์กร จำนวน 2 รูป/คน ผู้ศึกษาวิจัยใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่ใช้ความน่าจะเป็น (nonprobability sample) โดยเลือกใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบลูกโซ่ หรือแบบ สโนว์บอล (Snowball Sampling) ซึ่งเป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยอาศัยการแนะนำของผู้ให้ข้อมูลที่ได้เก็บข้อมูลไปแล้วต่อๆไป จนกระทั่งได้กลุ่มตัวอย่างครบตามจำนวนที่ต้องการ (สุวิมล ว่องวาณิช และนงลักษณ์ วิรัชชัย, 2546, หน้า 22)
            4.3 เครื่องมือในการวิจัย ประกอบด้วย
                1) แบบสังเกตพฤติกรรม เป็นการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non- participation observation)  คือ การสังเกตที่ผู้วิจัยไม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา โดยไม่ต้องการให้ผู้ถูกสังเกตรู้สึกรบกวนเพราะอาจทำให้พฤติกรรมผิดไปจากปกติได้ ซึ่งผู้ศึกษาวิจัยใช้ช่วงเวลาในการสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติตนของกลุ่มตัวอย่างในช่วงการประชุมคณะสงฆ์ประจำเดือน เวลาพักการประชุม เวลาอยู่ในสถานที่สาธารณะ การเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางคณะสงฆ์ได้ร่วมกันจัดขึ้น และการปฏิบัติศาสกิจอื่น ๆ
            2) แบบสัมภาษณ์ (Interviews) เป็นแบบสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-structure interview  protocol) ซึ่งเป็นการกำหนดข้อคำถามแบบปลายเปิด เพื่อให้ผู้ให้ข้อมูลสำคัญได้แสดงแนวคิด และอธิบายถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ทางการบริหาร และหลักการบริหารองค์กรของผู้ให้ข้อมูลได้อย่างอิสระ โดยแบบสัมภาษณ์มีรายละเอียดแบ่งออกเป็น 3 ตอน ดังนี้
                 ตอนที่ 1   ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ให้สัมภาษณ์
                 ตอนที่ 2  ข้อคำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์เกี่ยวกับการบริหารองค์กรเชิงพุทธ ของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประเด็นการสัมภาษณ์ 6 ประเด็น คือ แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารองค์กรเชิงพุทธ และการบริหารองค์กรเชิงพุทธ คือ การวางแผน การจัดองค์การ การบังคับบัญชาสั่งการ และการควบคุมดูแล
             ตอนที่ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาเพิ่มเติม และการนำหลักการบริหารองค์กรเชิงพุทธไปใช้ในการบริหารองค์กร 

5. ผลการวิจัย
            1. แนวคิด และทฤษฎีทั่วไปเกี่ยวกับการบริหาร การบริหารเป็นการใช้ศาสตร์และศิลป์ในการนำเอาทรัพยากรขององค์กร มาประกอบเป็นกระบวนการบริหาร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยปัจจัยหลัก คือ เงิน บุคคล วัสดุสิ่งของ วิธีการในการบริหารจัดการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายอย่างดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างความเจริญมั่นคงกับองค์กรในทุก ๆ ด้าน สำหรับแนวคิดทฤษฎีในการบริหารองค์กร ที่น่าสนใจนำไปศึกษา คือ ทฤษฎีการบริหารของเฮนรี ฟาโยล (Henry Fayol) ทางการบริหารโดยมีความเชื่อว่า เป็นไปได้ที่จะหาทางศึกษาถึงศาสตร์ที่เกี่ยวกับการบริหาร (Administrative) ซึ่งสามารถใช้ได้กับการบริหารทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานอุตสาหกรรมหรืองานรัฐบาลโดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการบริหาร  ซึ่งประกอบด้วยหน้าที่ทางการบริหาร (Management Functions) 5 ประการ คือ การวางแผน (Planning) การจัดองค์การ (Organizing) การบังคับบัญชาสั่งการ (Commanding) การประสานงาน (Coordinating) การควบคุม (Controlling)
            2. แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารองค์กรเชิงพุทธเป็นการใช้วิทยาการด้านการบริหารที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ในการบริหารคณะสงฆ์ การใช้ศาสตร์และศิลป์นำเอาทรัพยากรบริหาร มาประกอบเป็นกระบวนการบริหาร ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้มองเห็นลักษณะของการบริหารได้ดังนี้ การบริหารย่อมมีวัตถุประสงค์ การบริหารอาศัยปัจจัยบุคคลเป็นสำคัญ การบริหารต้องใช้ทรัพยากรการบริหารเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน การบริหารมีลักษณะการดำเนินการที่เป็นกระบวนการ การบริหารเป็นการดำเนินงานร่วมกันของกลุ่มคน การบริหารอาศัยความร่วมมือร่วมใจของบุคคลและของกลุ่มคน และการบริหารมีลักษณะเป็นการร่วมมือดำเนินการอย่างมีเหตุผล ในรูปแบบของการบูรณาการ หลักพุทธธรรมเข้ากับวิทยาการบริหาร ซึ่งเป็นการบริหารที่เหมาะสมดีงามมีประสิทธิภาพ อันนำไปสู่คุณลักษณะของการบริหารองค์กรเชิงพุทธ ดังนี้
                1) ลักษณะของแผนการปฏิบัติงานเชิงพุทธ คือ การวางแผนเชิงพุทธเป็นการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการบริหาร ซึ้งจะนำไปสู่การดำเนินงานลักษณะของแผนเชิงพุทธ จะต้องเป็นแผนที่สามารุประสบความสำเร็จได้เร็ว และไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร ผู้ปฏิบัติงานรู้หน้าที่ในการปฏิบัติงานของตนได้อย่างชัดเจน  ว่าจะต้องลงมือปฏิบัติงานอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร
                2) ลักษณะของการจัดองค์การเชิงพุทธ คือ การจัดโครงสร้างการบริหารองค์กร การมอบหมายหน้าที่ และการกำหนดตัวบุคคลผู้รับผิดชอบในแต่ละส่วนงานซึ่งจะต้องกำหนดเป็นโครงสร้างให้ชัดเจนและเปิดเผยให้ทราบโดยทั่วกันเพื่อประโยชน์ในการติดต่อประสานงานในการปฏิบัติงานให้เกิดความสอดคล้องเละมีความเชื่อมโยงกันในทุกหน้าที่
                3) ลักษณะของการบริหารบุคคลเชิงพุทธ คือ  เป็นการสรรหาบุคลากรใหม่ การพัฒนาบุคลากร การใช้คนให้เหมาะกับงาน ตลอดทั้งการดูแลและการพัฒนาให้การศึกษาและฝึกอบรม เน้นภาคฝึกปฏิบัติ (Training) มากกว่าภาคทฤษฎี (Teaching) สร้างการจูงใจให้สิทธิประโยชน์ ยกย่องชมเชยบุคลากรที่มีผลการปฏิบัติงานที่ดี หรือมีพัฒนาการในการทำงานที่ดีอยู่เสมอ และลงโทษบุคลากรที่กระทำผิดตามความสมควรแก่ความผิด
                4) ลักษณะของการอำนวยการเชิงพุทธ คือ  ผู้บริหารต้องมีอัธยาศัยในการทำงานที่ดี ต้องเป็นผู้มีสัจจะในการทำงาน ยึดธรรมคือความถูกต้องเป็นหลักในการอำนวยการ
                5) ลักษณะของการกำกับดูแลเชิงพุทธ คือ ถือประโยชน์สุขส่วนรวมเป็นสำคัญ ดูแลให้บุคลากรปฏิบัติงานแลละปฏิบัติตนอยู่ในกฎระเบียบ กติกาขององค์กร ตามครรลองครองธรรม ตามวัฒนธรรมขององค์กร ผู้บริหารต้องเป็นผู้ประสานให้พวกเขาดีกัน
            3. การบริหารองค์กรเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นการบริหารแบบ 5M ได้แก่ (1) คุณธรรม (M1 : Moral)  (2) บุคคล (M2 : Man) (3) การจัดการ (M3 : management) (4) เงิน (M4 : Money) (5) วัสดุอุปกรณ์ (M5 : materials) โดยให้ความสำคัญกับหลักคุณธรรมเป็นอันดับแรก  และน้อมนำหลักพุทธธรรมไปใช้ในการบริหาร ได้แก่
                1) การวางแผนของพระสังฆาธิหารในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้น้อมนำพุทธวิธีการวางแผนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ใช้ในการบริหารคณะสงฆ์ในสมัยพุทธกาลมาใช้เป็นแนวทางในการวางแผน ด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน โดยใช้หลักสัปปุริสธรรมในการพิจารณาการวางแผนให้เกิดความรอบคอบ ผ่านกระบวนการคิดก่อนทำ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างได้ผล โดยการวิเคราะห์จากองค์ประกอบ  คือ กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และจะทำอะไร  ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไม และอย่างไร และนำหลักอปริหานิยธรรมไปใช้เพื่อให้เกิดการยอมรับแผนการปฏิบัติงานร่วมกันของคณะสงฆ์ เพื่อสร้างความสามัคคี ปรองดองกันในหมู่คณะ ความเจริญงอกงามแห่ง สติปัญญาและคุณธรรม และประโยชน์เกื้อกูลแกผู้อื่น
                2) การจัดองค์การเชิงพุทธของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นไปตามพุทธวิธีการจัดองค์กรขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้น้อมนำหลักพุทธธรรม คือ หลักอคติ 4 หลักพรหมวิหาร 4 หลักสัปปุริสธรรม 7 และหลักอปริหารนิยธรรม 7 ไปใช้ในการพิจารณาจัดโครงสร้างการบริหารองค์กร และคัดเลือกพระภิกษุที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ให้ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการ
                3) การการบริหารบุคคลเชิงพุทธของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นไปตามพุทธวิธีการจัดองค์กรขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้น้อมนำหลักพุทธธรรม คือ หลักสาราณียธรรม 6 หลักพรหมวิหาร 4 อิทธิบาท 4 และหลักสังคหวัตถุ 4 ไปใช้ในการ กลั่นกรองส่งเสริม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพระภิกษุ สามเณร ในการปกครอง
               4) การประสานงานเชิงพุทธของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นไปตามพุทธวิธีการจัดองค์กรขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้น้อมนำหลักพุทธธรรมมาใช้ คือ หลัก 4 ส. หลักสาราณียธรรม  อปริหานิยธรรม หลักคารวะธรรม และหลักขันติธรรม ไปใช้ในการ ประสานการทำงาน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในเป้าหมายในการปฏิบัติภารกิจของพุทธศาสนา
                5) การกำกับดูแลเชิงพุทธของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นไปตามพุทธวิธีการกำกับดูแลขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้น้อมนำหลักพุทธธรรมมาใช้ คือ หลักทศพิธราชธรรม 10 หลักพรหมวิหาร 4 และอิทธิบาท 4 ไปใช้ในการการตรวจสอบปัญหา ความคืบหน้าในการปฏิบัติงาน รวมถึงการฝึก สอน และคอยดูแลพระภิกษุ สามเณร

6. อภิปรายผล
            จากการที่ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเรื่องการบริหารองค์กรเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนคศรีธรรมราช ด้วยวิธีการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์แบบเชิงลึก พระสังฆาธิการในเขตการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดนครศรีธรรมราช และนักวิชาการที่มีความชำนาญด้านรัฐศาสตร์และการบริหารองค์กรจำนวน 10 รูป/คน ซึ่งมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารองค์กรเชิงพุทธที่หลากหลายในวิธีการบริหารและหลักพุทธธรรมที่นำไปใช้ในการบริหารองค์กร ซึ่งผู้วิจัยได้ทำการสังเคราะห์และวิเคราะห์เข้าด้วยกัน จึงทำให้เห็นการบริหารในแบบต่าง ๆ ตามกรองที่ได้วางไว้ ซึ่งจะมีความสอดคล้องและไม่สอดคล้องกับผลการวิจัยของแต่ละท่าน ในด้านต่าง ๆ กัน คือ
            1. แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารองค์กรเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารองค์กรเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ การบริหารตน บริหารคน บริหารงาน ด้วยการนำหลักพุทธธรรมในพุทธศาสนาไปใช้เป็นหลักการในการบริหารตน ให้บริบูรณ์พร้อมด้วยธรรมวินัย และมีความเพียรในการปฏิบัติตนตามหลัก สัมมัปปธาน 4 คือ การมุ่งมั่นทำความชอบ 4 ประการ  ในการสร้างศรัทธา ความรักเคารพ โดยใช้หลักเมตตา เป็นเครื่องยึดเหนียวน้ำใจของบุคลากร ให้เป็นไปในทิศทางที่ดี การปฏิบัติงานภายในองค์ในรูปแบบของการ ประสานการทำงาน ให้เกิดความสอดคล้อง และร่วมแรงร่วมใจกันทำหน้าที่ ในการป้องกัน บำบัด บำรุง และรักษาองค์กร  ช่วยให้ดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบ รอบด้าน และผลจากความเพียรชอบก็จะสร้างสรรค์พัฒนาการบริหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดความสามัคคีกันภายในองค์กร และทำให้บุคลากรในพุทธศาสนามีความสุขในการปฏิบัติงานร่วมกัน สอดคล้องกับแนวคิดของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (2539) ที่ได้เสนอแนวคิดในการบริหารว่า ได้กำหนดหลักคุณธรรมของการบริหารไว้ในปธานสูตรเรียกว่า สัมมัปปธานคือ ความเพียรที่ถูกต้องที่ควรตั้งไว้ในเบื้องหน้าในกิจการทั้งปวง 4 หลักใหญ่ คือ
                1) สังวรปธาน : หลักการปูองกัน คือ การสำรวม ระมัดระวัง ปิดกั้น ขวางกั้น กีดกัน
ปิดป้อง ห้ามไม่ให้ความชั่ว ความเสื่อมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
                2) ปหานปธาน : หลักการปราบปราม คือ การลด ละ เลิก กำจัด ฆ่าให้ตายประหาร ทำให้หมดไป หลีกไปให้พ้น ซึ่งปัญหา ความชั่ว ความเสื่อมที่ล่วงละเมิดเกิดขึ้นแล้ว
                3) ภาวนาปธาน : หลักการพัฒนา คือ การทำให้มี ทำให้เกิด ความดีใดที่ยังไม่มี ทำให้มี ความดีใดที่ยังไม่เป็น ทำให้เป็น ความดีใดที่ยังไม่เกิด ทำให้เกิด
                4) อนุรักขนาปธาน : หลักการอนุรักษ์ คือ การตามดูแลรักษา การทำนุบำรุง การส่งเสริมและสนับสนุน ซึ่งความดี สิ่งที่ดีทีเกิด ที่มี ที่เป็นแล้ว ให้เจริญรุ่งเรือง เติบโตก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
            คุณธรรมการบริหารนี้ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ต้องสมดุลกัน จะยิ่งหรือหย่อนกว่ากันไม่ได้ เพราะหากการบริหารเชิงรับมากประเทศชาติย่อมไม่เจริญรุ่งเรือง ไม่ก้าวหน้า ล้าหลัง และหากเชิงรุกมาก ประเทศชาติย่อมวุ่นวายเดือดร้อน สิ้นเปลืองไปกับการผลิตและการบริโภคที่ไร้ขอบเขตและประมาทมัวเมา เปรียบเทียบให้เห็นชัดก็คือ ประเทศพม่ากับประเทศไทยนั่นเองแล    ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับแนวคิดของ พระยุทธนา รมณียธมฺโม (แก้วกันหา) (2548, หน้า 85) ที่ได้ให้แนวคิดในการบริหารเชิงพุทธว่า พระพุทธองค์ทรงมีพุทธวิธีในการป้องกันและการแก้ไขปัญหา ที่เกิดจากการจัดองค์กรคณะสงฆ์ ด้วยการยึดหลักพระธรรมวินัยเป็นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกัน จึงทำให้การดำเนินการป้องกันและการแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นในองค์กรคณะสงฆ์สมัยพุทธกาลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีและหลักการที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ก็ยังคงใช้มาถึงปัจจุบัน  การนำเอาแนวความคิดเกี่ยวกับ การจัดองค์กรคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาสมัยพุทธกาล มาประยุกต์ใช้ในองค์กรคณะสงฆ์และสังคมทั่วไปในสมัยปัจจุบันจะทำให้ได้รับประโยชน์ 2 ประการคือ
                1) ในด้านศาสนธรรม คือ หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีเนื้อหาสาระหรือคุณค่าแท้ที่อยู่ในรูปแบบของการจัดองค์กรคณะสงฆ์
               2) ในด้านรูปแบบและวิธีการการจัดองค์กร ซึ่งยืนยันถึงผลสำเร็จของการนำแนวคิดมาปฏิบัติและให้เห็นผลจริงในสังคม
            2. หลักการบริหารองค์กรเชิงพุทธของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครศรีธรรมราช
            การบริหารองค์กรเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นการบริหารแบบ 5M ซึ่งมีองค์ประกอบในการบริหารองค์กรที่สำคัญ อันประกอบด้วย บุคคล (man) เงิน (money) วัสดุอุปกรณ์ (materials) การจัดการ (management) หรือกระบวนการทางการบริหาร (Administration) และธรรมวินัย หรือ หลักคุณธรรม โดยให้ความสำคัญกับหลักคุณธรรมเป็นอันดับแรกในการบริหาร ซึ่งมีความสอดคล้องกับ พระครูวิสุทธานันทคุณ (สุรศักดิ์ วิสุทฺธาจาโร) (2557) ซึ่งได้ทำการศึกษาเรื่อง การบริหารจัดการวัดเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาผลการวิจัยพบว่า การบริหารจัดการวัดเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ภาค 15 ในการบริหารกิจการงานคณะสงฆ์ทั้ง 6 ด้าน คือ 1) ด้านการปกครอง 2) ด้านการศาสนศึกษา 3) ด้านการเผยแผ่ 4) ด้านการศึกษาสงเคราะห์ 5) ด้านการสาธารณูปการ และ 6) ด้านการสาธารณสงเคราะห์แบบ5M ได้แก่ (1) บุคคล (M1 : Man) (2) เงิน (M2 : Money) (3) วัสดุอุปกรณ์ (M3 : materials) (4) การจัดการ (M4 : management) และ (5) คุณธรรม (M5 : Moral) เป็นการบริหารจัดการวัดที่เหมาะสมดีงามมีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการของพระภิกษุสามเณรภายในวัดเป็นสำคัญ โดยมีกระบวนการในการบริหาร ดังนี้
                2.1 หลักการวางแผนเชิงพุทธของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้น้อมนำพุทธวิธีการวางแผนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผน ด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน โดยใช้หลักสัปปุริสธรรมในการพิจารณาการวางแผนให้เกิดความรอบคอบ ผ่านกระบวนการคิดก่อนทำ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างได้ผล โดยการวิเคราะห์จากองค์ประกอบ  คือ กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และจะทำอะไร  ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไม และอย่างไร สอดคล้องกับแนวคิดของ พระมหาบุญมี มาลาวชิโร (2553) ได้กล่าวว่า การวางแผนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้การบริหารงานประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย การวางแผนจึงเป็นภารกิจอันดับแรก ที่มีความสำคัญต่อกระบวนการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งการวางแผนเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันคาดการไปล่วงหน้า และเป็นการกำหนดแนวทางที่คาดว่าน่าจะดีที่สุด โดยผ่านกระบวนการคิดก่อนทำ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างได้ผล แนวทางในการวางแผนสามารถทำได้โดยการวิเคราะห์จากองค์ประกอบ  คือ กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และจะทำอะไร  ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไม และอย่างไร และมีความสอดคล้องกับ จตุพล ดวงจิตร และ ประยูร สุยะใจ (2559) ได้ทำการศึกษาเรื่อง “การบูรณาการหลักการบริหารเชิงพุทธในการส่งเสริมการขับเคลื่อนองค์กรชุมชนในลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง” ผลการวิจัยพบว่า โครงการได้รับการยอมรับจากสมาชิกในองค์กรหรือคนในชุมชน  องค์กรชุมชนองค์กรชุมชนลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง ได้ดำเนินการขับเคลื่อนองค์กรุชมชนตามวิถีแห่งชุมชนชนบทของสังคมไทย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นตามธรรมชาติของการพึ่งพาตนเองเป็นจุดเริ่มต้น และในการดำเนินขับเคลื่อนองค์กรชุมชนในแถบลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง สามารถนำเอาหลักการบริหารเชิงพุทธ อธิบายขั้นตอนการขับเคลื่อนองค์กรชุมชน คือ หลักอริยสัจ 4 ประกอบด้วย 1) ทุกข์ ความจริงว่าด้วยความทุกข์ 2) สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ 3) นิโรธ ความดับทุกข์ และ4) มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ รวมถึง หลักสัปปุริสธรรม7 ประการ ประกอบด้วย1) ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ 2) อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล 3) อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน 4) มัตตัญญุตา ความผู้รู้จักประมาณ 5) กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาล 6) ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักและ7) ปุคคลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบุคคลการขับเคลื่อนองค์กรชุมชนโดยใช้หลักการบริหารเชิงพุทธยังส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท้องถิ่นร่วมกับทุกภาคส่วน ยังผลไปสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน
            2.2 การจัดองค์การเชิงพุทธของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นไปตามพุทธวิธีการจัดองค์กรขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้น้อมนำหลักพุทธธรรม คือ หลักอคติ 4 หลักพรหมวิหาร 4 หลักสัปปุริสธรรม 7 และหลักอปริหารนิยธรรม 7 ไปใช้ในการพิจารณาจัดโครงสร้างการบริหารองค์กร และคัดเลือกพระภิกษุที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ให้ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการ สอดคล้องกับแนวคิดของ นิตย์ สัมมาพันธ์ (2529) ที่ได้ให้แนวคิดในการบริหารเชิงพุทธว่า คุณธรรมสำหรับผู้บริหารไว้ว่า นักบริหารทุกประเภทตั้งแต่ระดับนานาชาติ ระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ระดับองค์การ หน่วยงาน ครอบครัว ตลอดจนถึงตนเอง ควรมีวินัยและควรก่อนให้เกิดวินัยในหมู่คณะที่ตนรับผิดชอบในฐานะผู้นำด้วย ในทางพระพุทธศาสนาวินัยสำหรับฆราวาสก็คือ ศีล 5 ซึ่งการที่จะรักษาศีลให้ได้ผลดี ควรจะต้องมีเบญจธรรมประกอบด้วย ผู้บริหารที่ดีควรจะต้องมีวินัยดังกล่าว เพื่อที่จะนำหมู่คณะไปสู่การพัฒนาในระยะยาว ในการปฏิบัตินักบริหารนอกจากจะต้องรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์แล้วจะต้องมีธรรมอื่น ประกอบอีก เช่น ความยุติธรรม ซึ่งหมายถึงความเที่ยงตรง ไม่ผิดหรือบิดเบือนไปจากความจริง นักบริหารจะต้องประพฤติปฏิบัติให้ตรงตามนิยมของสังคมอยู่เสมอ โดยไม่มีอคติเข้ามาประกอบการตัดสินเป็นอันขาด ซึ่งอคตินั้นได้แก่ความลำเอียงมี 4 ประการ คือ  1.       ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก, 2. โมหาคติ ลำเอียงเพราะชัง, 3.   โทสาคติ ลำเอียงเพราะเขลา,       4.       ภยาคติ   ลำเอียงเพราะกลัว และนอกจากนี้นักบริหารจะต้องมีธรรมประจำใจอีกประการหนึ่ง คือ ขันติ ความอดทน นักบริหารจะต้องมีความอดทนต่อสภาวการณ์ต่าง  3 ประการ คือ 1.อดทนต่อความลำบาก, 2. อดทนต่อความตรากตรำ, 3.         อดทนต่อความเจ็บใจ, ธรรมข้อนี้ทำให้เกิดความงามทางจรรยา ทำให้ไม่มีพฤติกรรมอันทุจริตทั้งหลาย ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เพราะสามารถอดทนต่อ โลภะ โทสะ โมหะ ได้เป็นอย่างดี และมีความสอดคล้องกับ พระดนัย อนาวิโล (บุญสาร) (2554) ที่ได้ทำการศึกษาเรื่อง “การประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในสถานศึกษา : กรณีศึกษาผู้บริหารสถานศึกษาจังหวัดนครสวรรค์” ผลการวิจัยพบว่า หลักพุทธธรรมที่สอดคล้องกับหลักการบริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย หลักสัปปุริสธรรม 7 ว่าด้วยการครองตน เป็นธรรมของสัปปุริสชน คือคนดีประกอบด้วยรู้หลักการ รู้จุดหมายรู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้ชุมชน และรู้บุคคล หลักสังคหวัตถุ 4 ว่าด้วยการครองคน เป็นธรรมยึดเหนี่ยวใจบุคคลและประสานหมู่ชนไว้สามัคคี ประกอบด้วย ทาน คือการให้ ปิยวาจาคือวาจาอันเป็นที่รัก อัตถจริยา คือ การประพฤติประโยชน์ และสมานัตตตา คือความมีตนเสมอหรือทำตนเสมอต้นเสมอปลาย และหลักอิทธิบาท 4 ว่าด้วยการครองงาน เป็นคุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย ประกอบด้วย ฉันทะคือความพอใจ วิริยะคือความเพียร จิตตะคือความคิดมุ่งไป และวิมังสา คือความไตร่ตรอง ซึ่งผู้บริหารการศึกษาควรยึดหลักธรรมทั้ง 3 นี้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับการบริหารงานของสถานศึกษา และ ณัฐวรรณ ฐิตาคม (2556) ได้ทำการศึกษาเรื่อง การประยุกต์ใช้พรหมวิหาร 4 ในการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 42 ที่ได้เสนอแนะรูปแบบที่บุคลากรครูในสถานศึกษาต้องการให้ผู้บริหารมีพฤติกรรม ด้านเมตตาคือ 1. มีการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ 2.ผู้บริหารสร้างความพึงพอใจแก่บุคลากรและผู้รับบริการทางการศึกษา ด้านกรุณา คือ มีความกล้าตัดสินใจในการปรับปรุงการบริหารงานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สภาพที่พึงปรารถนาในอนาคตร่วมกัน มีการวางแผนการบริหารงานในอนาคตได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ด้านมุทิตา คือ ผู้บริหารมีความเอาใจใส่เกี่ยวกับปัญหาและมีความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น บริหารงานบุคลากรให้ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติงานอย่างเท่าเทียมกัน ด้านอุเบกขา คือ มีการบริหารการวางแผนด้วยความเที่ยงธรรมปราศจากอคติ มีความเสมอภาคในการบริหารงานในสถานศึกษา
           2.3 การบริหารบุคคลเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นไปตามพุทธวิธีการจัดองค์กรขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีกระบวนการบริหารบุคคลตั้งแต่การคัดเลือกกลั่นกรองสมาชิกใหม่ที่จะเข้าสู่องค์กร การคัดสรรบุคลากรให้เหมาะสมกับงานที่ต้องปฏิบัติ มีกระบวนการพัฒนาบุคลากรมีการสร้างแรงจูงใจให้กับบุคลากร และได้น้อมนำหลักพุทธธรรม คือ หลักสาราณียธรรม 6 หลักพรหมวิหาร 4 อิทธิบาท 4 และหลักสังคหวัตถุ 4 ไปใช้ในการ กลั่นกรองเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับองค์กรเนื่องจากบุคคลากรที่ขาดคุณภาพและไร้ระเบียบรวมถึงการส่งเสริม พัฒนาศักยภาพบุคคลากรขององค์กร และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพระภิกษุ สามเณร ในการปกครอง สอดคล้องกับ พระมหาธฤติ รุ่งชัยวิทูร (2557) ทำการศึกษาเรื่อง รูปแบบการพัฒนาพระสังฆาธิการเพื่อประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ผลการวิจัยพบว่ารูปแบบการพัฒนาพระสังฆาธิการตามแนวทั่วไปและตามแนวพระพุทธศาสนา ที่จะให้มีประสิทธิภาพในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ทั้ง 6 ด้านควรมีการบูรณาการ การพัฒนาพระสังฆาธิการ ตามแนวทั่วไปและพระพุทธศาสนาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารกิจการคณะสงฆ์มากยิ่งขึ้น
            2.4 การอำนวยการเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นไปตามพุทธวิธีการจัดองค์กรขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการชี้แนะ ให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนแนวคิด ในการดำเนินงาน และได้น้อมนำหลักพุทธธรรมไปใช้ คือ หลัก 4 ส. หลักสาราณียธรรม  อปริหานิยธรรม หลักคารวะธรรม และหลักขันติธรรม ไปใช้ในการประสานการทำงาน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในเป้าหมายในการปฏิบัติภารกิจของพุทธศาสนาซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในองค์กรจึงทำให้การบริหารองค์กรคณะสงฆ์ในจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสามารถนำพาไปสู่วัตถุประสงค์ มีความสอดคล้องกับ เสนอ อัศวมันตา (2557) ได้ทำการศึกษาเรื่อง รูปแบบการบริหารจัดการตามหลักอปริหานิยธรรมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ผลการวิจัยพบว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีสามารถนำหลักอปริหานิยธรรมไปบูรณาการเข้าไปในทุกขั้นตอนของกระบวนการบริหารเพื่อพัฒนาการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมความสามัคคีเป็นทีม(Teamwork) และสามารถนำมาบูรณาการเข้ากับบริหารงานทั้งในด้านการบริหารจัดการบุคลากร (Staffing) การประสานงาน (Coordinating) และการจัดองค์กร (Organizing) โดยการร่วมแรงร่วมใจเป็นคณะแต่ละฝ่าย เป็นการผนึกกำลัง (Synergy) เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และสามารถนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติด้านการบริหารจัดการแบบบูรณาการเพื่อ เป็นแนวทางในการบริหารงานเพื่อให้การทำงานเป็นระบบ ระเบียบ/คำสั่งสามารถนำไปปฏิบัติเป็นรูปธรรมบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีองค์ประกอบด้วย การวางแผนยุทธศาสตร์การจัดองค์กรการบริหารบุคคล การสั่งการ การประสานงาน การตรวจสอบควบคุมและงบประมาณเข้าไปกำกับดูแล โดยยึดหลักคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมและส่งเสริมระบบคุณธรรม ให้มีการทำงานเป็นทีมความสมัครสมานสามัคคี เคารพผู้ใหญ่อาวุโส ไม่รื้อทิ้งกฎเกณฑ์ระเบียบที่ถูกต้องชอบธรรม ธำรงรักษาประเพณีวัฒนธรรมจริยธรรมอันดีงามองค์กร และร่วมรับผลประโยชน์สูงสุดจากการบริหารจัดการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลทางปฏิบัติต่อไปอย่างยั่งยืน
            2.5 การควบคุมดูแลเชิงพุทธ  การควบคุมดูแลเชิงพุทธ ของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นไปตามพุทธวิธีการกำกับดูแลขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยให้ความสำคัญกับการควบคุมดูแลการดำเนินกิจกรรมของคณะสงฆ์ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การปฏิบัติตนให้อยู่ในพระธรรมวิจัยจนถึงขั้นตอนการดำเนินงาน ด้วยการติดตามผลการดำเนินงาน ให้คำชี้แนะตามประเด็นติดขัด และให้ความช่วยเหลือการปฏิบัติงานของบบุคลากรในองค์กร โดยใช้ระบบพี่เลี้ยงในการดำเนินงาน  และได้น้อมนำหลักทศพิธราชธรรม 10 หลักพรหมวิหาร 4 และหลักอิทธิบาท 4 ไปใช้ในการควบคุมดูแล สอดส่อง เพื่อให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ สอดคล้องกับ มัณฑนา อินทุสมิต (2549ได้ให้แนวคิดในการบริหารเชิงพุทธว่า คุณธรรมสำหรับผู้บริหาร เป็นหลักสำคัญในการประพฤติ ปฏิบัติตนของผู้บริหาร นอกจากจะใช้กับผู้ใต้บังคับบัญชาแล้ว ยังต้องมีการติดต่อประสานงานกับบุคคลหลายฝ่าย เช่น ชุมชน สังคม หรือผู้บังคับบัญชาในองค์การอื่น เป็นต้น จึงสามารถรวบรวมเกี่ยวกับคุณธรรมของผู้บริหารพึงนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานของหน่วยงาน จะเป็นคุณธรรมที่มีประโยชน์ต่อการทำงาน การปกครองโดยช่วยจัดและคุ้มครองชีวิตที่ดีร่วมกัน ผู้บริหารควรมีคุณธรรมตามหมวดธรรมต่อไปนี้ คือ อธิปไตย 3 สังคหวัตถุ 4 อคติ 4 พรหมวิหาร 4 พละ 4 อปริหายธรรม 7 ราชธรรม 10 คุณธรรมเหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมการปฏิบัติงานของผู้บริหารสถานศึกษา ให้บรรลุผลสำเร็จได้อย่างดียิ่ง

7. ข้อเสนอแนะ
            จากการวิจัยพบว่า พระสังฆาธิการในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้นำหลักการบริหารองค์กรคณะสงฆ์ในสมัยพุทธการและหลักพุทธธรรมไปใช้ในการบริหารในทุกกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีภายในองค์กร ในทุกระดับการบริหาร และมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กรคณะสงฆ์และหน่วยงานอื่น ๆ รวมถึงชุมชน จนทำให้เกิดความร่วมมือกันในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา ในจังหวัดนครศรีธรรมราชให้มีความเจริญรุ่งเรื่องสืบมา จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมทางการบริหารองค์กรที่ควรส่งเสริมให้ให้เกิดการนำไปใช้ให้มากขึ้น ซึ่งการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษาเฉพาะกลุ่มผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น ทั้งนี้พบว่าการบริหารองค์กรคณะสงฆ์ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังขาดกระบวนการในการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้
            1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
               1) ควรส่งเสริมให้พระสังฆาธิการในทุกระดับการบริหารได้ศึกษาวิธีการบริหารองค์กร โดยเพิ่มกระบวนการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
                2) ควรส่งเสริมให้พระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดการอบรมเพื่อเผยแผ่แนวคิดในการบริหารองค์กรเชิงพุทธให้แก่พระสังฆาธิการ และผู้บริหารองค์กรอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดผู้นำเชิงพุทธ มากขึ้น
            2. ข้อเสนอแนะในการวิจัย
                จากการวิจัยเรื่อง ศึกษาวิเคราะห์การบริหารองค์กรเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะในการวิจัยเพิ่มเติม ดังนี้
               1) ควรศึกษาเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารองค์กรเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
               2) ควรศึกษาเรื่องการนำหลักการบริหารองค์กรเชิงพุทธไปใช้ในการบริหารองค์กรคณะสงฆ์ ของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
             3) ควรศึกษาเรื่อง การประยุกต์ใช้หลักการบริหารองค์กรคณะสงฆ์ในสมัยพุทธกาล ไปใช้ในการบริหารองค์กรคณะสงฆ์ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช

เอกสารอ้างอิง
1. ภาษาไทย
1) เอกสารปฐมภูมิ
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย. (2525). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฉลองศิริราชสมบัติ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
          2) หนังสือทั่วไป
กองแผนงาน กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. (2540). หนังสือคู่มือพระสังฆาธิการว่าด้วยพระราชบัญญัติกฎระเบียบและคำสั่งของคณะสงฆ์. กรุงเทพมหานคร: กรมการศาสนา
ธณจรส พูนสิทธิ์. (2541). การจัดการองค์การและการบริหาร. กรุงเทพมหานคร : สหธรรมิก.
นิตย์ สัมมาพันธ์. (2529). การบริหารเชิงพุทธ. กรุงเทพมหานคร: โอ เอส.พร้นติ้ง เฮ้าส์
พระมหาบุญมี มาลาวชิโร (2553) พุทธบริหารสุดยอดนักบริหารผู้ทรงภูมิที่ลูกน้องรักและเทิดทูนอย่างจริงใจ. กรุงเทพมหานคร: ธิงค์ บียินด์ บุคส์.
สุวิมล ว่องวาณิช และนงลักษณ์ วิรัชชัย. (2546). แนวทางการให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์.กรุงเทพมหานคร: คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
3) เอกสารที่ไม่ได้ตีพิมพ์
สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดนครศรีธรรมราช. (2557). แผนพัฒนาจังหวัด (พ.ศ. 25572560) (ฉบับทบทวน) จังหวัดนครศรีธรรมราช.(อัดสำเนา)



** นักศึกษาหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาลัยวิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช
*** อาจารย์ ดร., ที่ปรึกษาหลัก