วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

รัฐศาสตร์(Political Science)

รัฐศาสตร์(Political Science)

รัฐศาสตร์ (Political Science) คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยรัฐ อันเป็นสาขาหนึ่งของวิชาสังคมศาสตร์ ที่กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับรัฐ ว่าด้วยทฤษฎีแห่งรัฐ การวิวัฒนาการ มีกำเนิดมาอย่างไร สถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่ดำเนินการปกครองมีกลไกไปในทางใด การจัดองค์การต่างๆ ในทางปกครอง รูปแบบของรัฐบาล หรือสถาบันทางการเมืองที่ต้องออกกฎหมายและรักษาการณ์ให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเอกชน (Individual) หรือกลุ่มชน (Group) กับรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ตลอดจนแนวคิดทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อโลก ตลอดจนการแสวงหาอำนาจของกลุ่มการเมืองหรือภายในกลุ่มการเมือง หรือสถาบันการเมืองต่างๆ เพื่อการปกครองรัฐให้เป็นไปด้วยดีที่สุด

จากความหมายดังกล่าว รัฐศาสตร์จึงมีความเกี่ยวพันกับสังคมศาสตร์ทุกสาขาวิชาอย่างแยกไม่ออก การที่เราจะศึกษาวิชารัฐศาสตร์จำเป็นต้องกำจัดขอบเขต โดยวิชารัฐศาสตร์จะมุ่งเน้นศึกษาเป็นพิเศษใน 3 หัวข้อ คือ
  1. รัฐ (State)
  2. สถาบันการเมือง (Political Institutions)
  3. ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy)
1. รัฐ (State) เป็นหัวใจของวิชารัฐศาสตร์ เราจำเป็นที่จะต้องศึกษาว่า รัฐคืออะไร ความหมายและองค์ประกอบของรัฐ กำเนิดของรัฐ และวิวัฒนาการของรัฐ และแนวคิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐ

2. สถาบันทางการเมือง (Political Institutions) หมายถึง องค์กรหรือหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการปกครองและดำเนินกิจการต่างๆ ของรัฐทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งอาจจะก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมายของรัฐ หรืออาจก่อตั้งขึ้นโดยการร่วมใจกันของเอกชน หรือตามประเพณีก็ได้ สถาบันทางการเมืองมี สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐบาล พรรคการเมือง เป็นต้น

3. ปรัชญาทางการเมือง (Political Philosophy) คือ ความคิดความเชื่อของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในยุคใดยุคหนึ่ง อันเป็นรากฐานของระบบการเมืองที่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมและความต้องการของตน หมายความรวมถึง อุดมการณ์หรือเป้าหมายที่จะเป็นแรงผลักดันในมนุษย์ปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นๆ เช่น ผู้บริหารประเทศไทยมีปรัชญาทางการเมืองที่มุ่งในทางพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมและทางกสิกรรม กับปรารถนาให้ประชาชาติมีการกินดีอยู่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุประสงค์ (Objective or Ends) แต่การที่จะปฏิบัติ (Means) นั้นอาจจะใช้ระบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งก็เป็นวิถีทางที่อาจจะนำมาถึงจุดมุ่งหมายนั้นๆ ก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น