วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

กลุ่มผลประโยชน์ (Interest groups)


 1. ความหมายของกลุ่มผลประโยชน์
                อัลมอนด์ และเพาเวลล์ (Almond & Powell, 1966: 75) ได้นิยามกลุ่มผลประโยชน์ไว้ว่า หมายถึง กลุ่มคนที่เชื่อมโยงกัน โดยมีความสนใจหรือห่วงใยในสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันและโดยมีความสำนึกอยู่ไม่มากก็น้อยว่าเขามีความเชื่อมโยงดังกล่าวกันอยู่
                จุมพล หนิมพานิช (2542: 224) อธิบายว่า กลุ่มผลประโยชน์ (Interest Group) หมายถึง กลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน แต่ถ้าสมาชิกของกลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าวได้ก่อตั้งองค์การ (หรือกลุ่มที่มีการจัดระเบียบโครงสร้างอย่างดี) ขึ้นมาที่จะช่วยให้พวกเขาเองได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อให้เป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่พวกเขาได้ตั้งใจไว้บรรลุผล
                อานนท์ อาภาภิรม (2545: 97) อธิบายว่า กลุ่มผลประโยชน์ หมายถึง กลุ่มบุคคล สมาคม สหพันธ์ หรือสหบาล ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองที่จะเป็นรัฐบาล หน้าที่สำคัญของกลุ่มผลประโยชน์ คือ พยายามรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนโดยเสนอความคิดเห็นของตนต่อรัฐบาล หรือใช้อำนาจ หรือใช้อิทธิพลบีบบังคับรัฐบาลให้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม
                สุขุม นวลสกุล และวิศิฐ์ ทวีเศรษฐ์ (2542: 239) กล่าวว่า กลุ่มผลประโยชน์ คือ กลุ่มของบุคคลที่รวมกันเพราะมีอาชีพหรือมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน และมีความต้องการที่จะให้นโยบายของรัฐบาลสนองต่อความต้องการของกลุ่มคน การรวมกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์มีลักษณะคล้ายคลึงกับการรวมกันเป็นพรรคการเมือง ความแตกต่างของกลุ่มผลประโยชน์กับพรรคการเมืองอยู่ตรงที่พรรคการเมืองต้องการเป็นรัฐบาลเพื่อกำหนดนโยบายเสียเอง ส่วนกลุ่มผลประโยชน์ไม่ต้องการเป็นรัฐบาลเอง แต่ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่ม
                สรุป กลุ่มผลประโยชน์ หมายถึง กลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันโดยมีวัตถุประสงค์และผลประโยชน์ร่วมกัน มีทัศนคติไปในแนวทางเดียวกัน กลุ่มผลประโยชน์แตกต่างจากพรรคการเมือง เพราะไม่ได้ต้องการเป็นรัฐบาลแต่ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายสอดคล้องตรงกับความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์
 2. ประเภทของกลุ่มผลประโยชน์
 อัลมอนด์ และเพาเวลล์ (Almond & Powell, 1966: 75-80) ได้แบ่งประเภทกลุ่มผลประโยชน์ออกเป็น 4 ประเภทดังนี้
                2.1 กลุ่มผลประโยชน์ของบุคคลที่เคว้งคว้างไร้บรรทัดฐาน (Anomic Interest Groups) กลุ่มผลประโยชน์ประเภทนี้จะปะทุขึ้นอย่างค่อนข้างจะกะทันหันตามอารมณ์ เช่น การจลาจล การลอบสังหารตลอดจนการเดินขบวนประท้วง การเรียกร้องผลประโยชน์ในรูปลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นในสภาพที่ไม่มีกลุ่มที่ได้รับการจัดตั้งอยู่ในสังคม หรือว่าหากมีก็มีบางกลุ่มที่ถูกปิดกั้นมิให้แสดงออกซึ่งความต้องการ ดังนั้น ความไม่พึงพอใจที่ถูกปิดอยู่กดดันไว้จะปะทุออกมาถ้ามีเหตุการณ์เอื้ออำนวยหรือมีผู้ชักนำหรือปลุกระดมให้เกิดขึ้น การชักนำนี้อาจกระทำโดยผู้ที่อยู่ในอำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของเขาเองก็ได้ แต่ข้อสำคัญไม่มีการจัดตั้งเป็นองค์กรแต่อย่างใด
                2.2 กลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่มีการจัดตั้ง (Non - Associational Interest Groups) หมายถึง กลุ่มเครือญาติ กลุ่มเชื้อชาติ กลุ่มภูมิภาค กลุ่มสถานภาพ กลุ่มชนชั้น กล่าวคือ เป็นกลุ่มคนที่อาจไม่ได้พบปะกันอย่างสม่ำเสมอ แต่มีความรู้สึกร่วมกัน มีความเชื่อมโยงกันทางจิตใจทางวัฒนธรรมอย่างรู้ใจกันพอสมควร การเรียกร้องผลประโยชน์ของกลุ่มนี้จะเป็นครั้งคราว โดยผ่านบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือผู้นำ เช่น ผู้นำทางศาสนา ตัวอย่างเช่น การที่เจ้าของที่ดินหลายคนขอร้องข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือรัฐมนตรีให้พิจารณาไม่ขึ้นภาษีที่ดิน โดยที่การขอร้องนี้เกิดขึ้นเมื่อเล่นกอล์ฟด้วยกัน
 2.3 กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นสถาบัน (Institutional Interest Groups) กลุ่มผลประโยชน์ประเภทนี้จะเป็นองค์กรที่เป็นทางการ (Formal Organizations) เช่น พรรคการเมือง สถาบันนิติบัญญัติ กองทัพ ศาสนา หน่วยราชการและสถาบันอื่น ๆ ซึ่งมีหน้าที่เฉพาะอย่างอื่นที่ไม่ใช่การเรียกร้องผลประโยชน์ กลุ่มเหล่านี้อาจเรียกร้องผลประโยชน์ของกลุ่มเอง หรือทำหน้าที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของกลุ่มอื่นในสังคม นอกจากนั้นกลุ่มย่อยภายในสถาบันสำคัญ ๆ เหล่านี้ อาจทำหน้าที่เรียกร้องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตนก็ได้ โดยอาศัยความยอมรับนับถือในสถาบันที่สังกัดอยู่เป็นทรัพยากรในการที่จะได้มาซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง ตัวอย่างเช่น กลุ่มนักการธนาคารในพรรคอนุรักษ์นิยมพรรคหนึ่งอาจใช้อิทธิพลของพรรคในวันที่จะเพิ่มพูนผลประโยชน์ให้แก่วงการธนาคารหรือกลุ่มผู้นำกองทัพบกทำการเรียกร้องผลประโยชน์ให้แก่ชาวนาผู้ยากไร้ เป็นต้น ในสังคมกำลังพัฒนา กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นสถาบัน เช่น สถาบันราชการ สถาบันทหารมีการจัดตั้งอย่างเหนียวแน่นและมีอำนาจมากในสังคม ในขณะที่กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นทางการ นอกจากสถาบันดังกล่าวมีน้อยหรือไม่ก็ขาดประสิทธิภาพ
                2.4 กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นทางการ (Associational Interest Groups) กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นทางการในที่นี้ หมายถึง มีการจัดตั้ง มีสมาชิกเป็นการแน่นอนไม่ได้หมายความถึงที่เป็นทางราชการ ตัวอย่างกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นทางการ คือ สหภาพแรงงาน สมาคมนักธุรกิจ สมาคมชาติพันธุ์และกลุ่มประชาชนประจำท้องถิ่นต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นปากเสียงแทนผลประโยชน์ของกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ กลุ่มเหล่านี้มักจะมีระเบียบวิธีการที่จะเรียกร้องผลประโยชน์และนำข้อเรียกร้องเสนอต่อระบบการเมือง ในสังคมที่พัฒนาแล้ว กลุ่มเหล่านี้จะได้เปรียบกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ จะได้รับการยอมรับว่าชอบธรรมและจะมีมากมายหลายกลุ่มครอบคลุมถึงกลุ่มชนต่าง ๆ ในสังคม
            สรุป ประเภทของกลุ่มผลประโยชน์ มี 4 ประเภท 2 ประเภทแรกได้แก่ กลุ่มผลประโยชน์ของบุคคลที่เคว้งคว้างไร้บรรทัดฐานและกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่มีการจัดตั้ง 2 กลุ่มนี้เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการจัดตั้ง   กลุ่มแรก เกิดขึ้นอย่างกะทันหันตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กลุ่มหลังถึงแม้ไม่มีการจัดตั้งแต่มีความเป็นกลุ่มร่วมกันผ่านทางเครือญาติ เชื้อชาติ ภูมิภาค สถานภาพและชนชั้น   2 ประเภทหลัง ได้แก่ กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นสถาบัน ได้แก่ พรรคการเมือง สถาบันนิติบัญญัติ กองทัพ ศาสนา หน่วยราชการ กลุ่มนี้มีการจัดตั้งมีสมาชิกแน่นอน เช่น สหภาพแรงงาน สมาคมนักธุรกิจ สมาคมชาติพันธุ์ กลุ่มนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นปากเสียงเรียกร้องผลประโยชน์ให้กลุ่มโดยเฉพาะ จะเห็นได้ว่า กลุ่มผลประโยชน์ทั้ง 4 ประเภทนี้ล้วนมีผลต่อกระบวนการทางการเมือง
 3. บทบาทหน้าที่ของกลุ่มผลประโยชน์
                แสวง   รัตนมงคลมาศ (2540: 784-785 อ้างถึงใน สยาม ดำปรีดา. 2547: 186) ได้อธิบายถึงบทบาทหน้าที่ของกลุ่มผลประโยชน์ว่ามีดังนี้
 3.1 บทบาทหน้าที่ในการป้อนนโยบาย (Policy Input) การป้อนนโยบายนี้ หมายถึง บทบาทในการพยายามใช้อิทธิพลของกลุ่มผลักดันให้ฝ่ายกำหนดนโยบายดำเนินการออกหรือกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มคน ซึ่งฝ่ายที่กำหนดนโยบายเป็นฝ่ายใดก็แล้วแต่   ข้อเท็จจริงของแต่ละหรือระบอบการเมืองที่ไม่เหมือนกัน โดยในบางแห่งอาจเป็นพรรคการเมืองบางแห่งของรัฐบาล บางแห่งเป็นรัฐบาล และในบางแห่งคือ ระบบราชการ ส่วนยุทธวิธีในการผลักดัน อาจทำได้หลายรูปแบบ นับตั้งแต่วิธีการป้อนข้อมูลข่าวสารของตนให้กับฝ่ายที่กำหนดนโยบายเข้าร่วมตกลงหรือต่อรองให้มีการแบ่งผลประโยชน์และหยิบยื่นผลประโยชน์ทั้งในทางที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรมให้กับฝ่ายกำหนดนโยบาย ทั้งนี้เพื่อโน้มน้าวให้นโยบายที่ออกมานั้นเป็นไปตามทิศทางของกลุ่มตน ตลอดจนวิธีการเรียกร้องหรือเดินขบวนสนับสนุนหรือต่อต้าน ก็ถือว่าเป็นอีกยุทธวิธีหนึ่งของการผลักดันนโยบาย
 3.2 บทบาทหน้าที่ในการประสานและขานรับนโยบาย (Policy Coordinator and Implementator) นอกจากการผลักดันนโยบายแล้ว การประสานและขานรับนโยบายที่กลุ่มตนเห็นด้วย ยังถือเป็นหน้าที่หลักอีกด้านหนึ่งของกลุ่มผลประโยชน์ ทั้งนี้ เพื่อให้นโยบายที่ออกมาสามารถบรรลุผลสำเร็จในทางปฏิบัติที่กว้างขวางขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น   กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มมีเป้าหมายในการประสานและขานรับนโยบายมากกว่าที่จะผลักดันนโยบาย กลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่จัดตั้งโดยฝ่ายนโยบายหรือฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ เพื่อคอยขานรับนโยบายของตนที่ออกมาและเพื่อดำเนินการต่อต้านกลุ่มต่อต้านเมื่อเกิดกรณีขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งกลุ่มเพื่อประสานและขานรับนโยบายของผู้กุมอำนาจปกครองประเภทนี้ ทำให้เกิดกลุ่มที่ไม่อิสระขึ้นและทำให้มีความขัดแย้งในสังคมสูง ซึ่งโดยทั่วไปประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะไม่ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะนี้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและเป็นการเพิ่มพูนความขัดแย้งและความรุนแรงให้กับกระบวนการพัฒนาการทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์มีความสำคัญในฐานะเป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานสถาบันการเมืองต่าง ๆ ในสังคม บทบาทของการเชื่อมประสานนี้สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ
                                3.2.1 การเชื่อมประสานในแนวดิ่ง (Vertical coordinator) หมายถึง การทำตัวเป็นตัวกลางในการส่งลูกขึ้นไป และรับลูกลงมา ซึ่งลูกที่ส่งไปและหรือรับมานั้นก็คือ นโยบายนั่นเอง ส่วนผู้ที่กลุ่มนำลูกหรือนโยบายไปส่งนั้น ย่อมหมายถึง ประชาชนที่ทางกลุ่มเป็นหรืออ้างเป็นตัวแทนสำหรับผู้รับลูกหรือนโยบายนั้นอาจเป็นพรรคการเมือง รัฐสภา รัฐบาลและหรือระบบราชการแล้วแต่กรณี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การเป็นผู้เชื่อมประสานระหว่างประชานกับสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ ในสังคม บทบาทของการเป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานระหว่างสถาบันประชาชนกับสถาบันทางการเมืองอันนี้นับว่าเป็นบทบาทที่จำเป็นและสำคัญที่สุดสำหรับกลุ่มผลประโยชน์ ทั้งนี้ เพราะถ้าปราศจากเสียซึ่งกลุ่มผลประโยชน์แล้วโอกาสและความเป็นไปได้ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและผลประโยชน์ของกลุ่มประชาชนต่าง ๆ ก็จะขาดกลไกที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านนี้   ขณะเดียวกันการผ่านนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของสถาบันการเมืองทั้งหลาย หมายถึง ประชาชนก็จำเป็นต้องมีกลุ่มผลประโยชน์เป็นกลไกเชื่อมโยงให้ มิฉะนั้นแล้ว โอกาสการส่งผ่านนโยบายย่อมมีน้อยและบางครั้งก็ไร้ประสิทธิภาพ
                3.2.2 การเชื่อมประสานในแนวนอน (Horizontal coordinator) หมายถึง การติดต่อสัมพันธ์ในระดับกลุ่มผลประโยชน์ด้วยกัน โดยทั่วไปกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มักจะดำเนินการอย่างอิสระของตนเอง แต่ถ้ามีเหตุการณ์หรือความจำเป็นบางอย่างก็อาจจะมีการเชื่อมประสานติดต่อกันหรือดำเนินกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับหลักแห่งผลประโยชน์ร่วมกันประการหนึ่งและหลักการมีศัตรูร่วมกันอีกประการหนึ่ง ตัวอย่างการเชื่อมประสานนั้นจะเห็นได้จากการร่วมมือของธุรกิจต่าง ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นเสมอตามสถานการณ์ หรือตัวอย่างการประสานงานระหว่างนิสิต นักศึกษา กับกรรมกรและชาวนาในการต่อต้านอำนาจเผด็จการ เป็นต้น

 สรุป ในสังคมระบอบประชาธิปไตย กลุ่มผลประโยชน์มีบทบาทไม่น้อยไปกว่าพรรคการเมือง โดยเฉพาะบทบาทในการป้อนนโยบาย เป็นการพยายามผลักดันนโยบายโดยใช้อิทธิพลของกลุ่มกดดันให้มีการกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มตน

กระบวนการทางการเมือง

กระบวนการทางการเมือง
โกวิท  วงศ์สุรวัฒน์ (มปป: 113) อธิบายว่ากระบวนการทางการเมือง (Political Process) หมายถึง วิธีการใช้อำนาจอธิปไตย (Process) เป็นกระบวนการอยู่ระหว่างปัจจัยนำเข้า (Input) ก่อให้เกิดผลผลิต (Output) ออกมา เมื่อมีรัฐเกิดขึ้น ย่อมมีกระบวนการทางการเมือง จรูญ สุภาพ (2527: 104) อธิบายว่า กระบวนการทางการเมือง คือ เรื่องของการใช้อำนาจทางการเมือง การใช้อำนาจทางการเมืองเป็นสิ่งที่เก่าแก่สืบเนื่องกันมาช้านาน กระบวนการทางการเมืองนี้มีหลายวิธีแตกต่างกันตามยุคตามสมัยในสมัยโบราณ การเปลี่ยนมือการปกครองภายในประเทศระหว่างชนชั้นนำในชุมชนก็เป็นวิธีการใช้อำนาจทางการเมืองอย่างหนึ่ง บางชุมชนถือการสืบมรดกอำนาจทางการเมือง เหมือนการสืบมรดกในทรัพย์สิน   บางสังคมการใช้อำนาจทางการเมืองต้องได้รับความยินยอมจากบรรดาสมาชิกของสังคม ชุมชนบางแห่งใช้ความรุนแรงและอำนาจบังคับเป็นแนวทางในการครอบครองอำนาจและใช้อำนาจนั้น ทุกวิธีดังกล่าวข้างต้นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการทางการเมืองทั้งสิ้น
 กระบวนการทางการเมืองเป็นกิจกรรมที่มีความสลับซับซ้อน เพราะมีหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายหน่วย แต่ละหน่วยมีความรับผิดชอบโดยเฉพาะ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องประสานงานกัน เพื่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากอำนาจอธิปไตยประกอบด้วยอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ยกตัวอย่างฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ออกกฎหมาย ฝ่ายบริหารมีหน้าที่กำกับควบคุมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ฝ่ายตุลาการจะเป็นผู้ตัดสินว่ากระทำผิดจริงหรือไม่ และตัดสินลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด

          กระบวนการทางการเมืองครอบคลุมตั้งแต่สถาบันทางการเมือง ซึ่ง ได้นำเสนอถึงสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติ   สถาบันฝ่ายบริหาร และสถาบันตุลาการ ในระบอบการปกครองแบบรัฐสภาและแบบประธานาธิบดี เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจกระบวนการทางการเมืองให้ครบถ้วน บทที่ 7 จึงเป็นการศึกษาเรื่องพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ระบบราชการและสื่อมวลชน ซึ่งจะมีความสัมพันธ์และมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ในกระบวนการทางการเมือง ประหนึ่ง น๊อตของเครื่องจักร ถ้าตัวใดตัวหนึ่งหายไปจะเป็นเหตุให้เครื่องจักรชำรุดได้
พรรคการเมือง (Political Party)
                1. ความหมายของพรรคการเมือง  นักรัฐศาสตร์หลายท่านได้ให้คำจำกัดความของพรรคการเมืองไว้ดังนี้
 วิลเลียม กูดแมน (Goodman, 1975: 8) อธิบายว่า พรรคการเมือง คือ องค์การซึ่งเป็นที่รวมกันของสมาชิกที่มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกัน โดยมีความม่งหมายอย่างชัดแจ้งที่หวังจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอันจะทำให้มีสิทธิเข้าไปใช้อำนาจการปกครองเพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากการเข้าไปมีอำนาจทางการเมือง
                ที. เอส. สตีเวนสัน (Stevenson, 1973: 218) ให้คำนิยามว่า พรรคการเมืองประกอบด้วย กลุ่มบุคคลที่ได้รวบรวมกันจัดตั้งองค์การขึ้นมา เพื่อจะได้เสนอเป็นตัวแทนเข้าสมัครรับการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลดำเนินการปกครองประเทศ
 หยุด แสงอุทัย (2503: 184) อธิบายว่า พรรคการเมือง คือ คณะบุคคลซึ่งรวบรวมกัน เพราะมีความเห็นในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ในแนวทางใหญ่ตรงกัน และมีความมุ่งหมายที่จะเป็นรัฐบาลอำนวยการปกครองตามความคิดเห็นนั้น ๆ
                โกวิท   วงศ์สุวัฒน์ (2543: 97) อธิบายความหมายพรรคการเมืองว่า คือ กลุ่มบุคคลที่รวมกันขึ้นเพื่อแสวงหาอำนาจทางการเมือง ตามวิถีทางของแต่ละรัฐซึ่งกำหนดไว้
สรุปได้ว่า พรรคการเมือง คือ คณะบุคคลที่มารวมกันมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาอำนาจทางการเมือง เหนือพรรคการเมืองอื่นหรือนัยหนึ่ง คือ เป็นรัฐบาลนั่นเอง
                2. หน้าที่ของพรรคการเมือง
 ปรีชา   หงษ์ไกรเลิศ (2524: 15-21) ได้อธิบายถึงหน้าที่ทั่วไปของพรรคการเมืองไว้ดังนี้
 2.1 หน้าที่ให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน ในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองมีบทบาทและหน้าที่ที่จะให้การศึกษาอบรมด้านการเมืองแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทราบว่า การปกครองประเทศนั้นมิใช่เป็นเรื่องของชนชั้นใดชั้นหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง   หากแต่เป็นเรื่องของพลเมืองทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน การให้การศึกษาทางการเมืองอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น การอธิบายหรือแถลงนโยบายของพรรคผ่านทางสื่อมวลชน ตลอดจนการเข้าถึงประชาชนโดยตรง เช่น การอภิปราย ปาฐกถา การบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ ตามโอกาส
                2.2 หน้าที่สรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการเป็นผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย เพราะผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นตัวแทนไปทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ผู้ที่จะเป็นผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นบุคคลที่เสียสละ มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการเป็นตัวแทนของราษฎรที่ดี พรรคการเมืองจะต้องทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการกลั่นกรองตัวบุคคลที่เหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนที่ดีของประชาชน
 2.3 หน้าที่ประสานประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้ว กลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์จะมีบทบาทในการสร้างอิทธิพลต่อรัฐบาลในนโยบายสาธารณะ เช่น การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน   การเดินขบวนประท้วงของกลุ่มเกษตรกร เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลยินยอมปฏิบัติตามในสิ่งที่ตนต้องการ ในขณะเดียวกัน กลุ่มนายจ้างก็ไม่ยินยอมที่จะปฏิบัติตาม เพราะต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนไว้อย่างเหนียวแน่น ในการนั้นพรรคการเมืองจะทำหน้าที่ประสานผลประโยชน์ให้กับกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ด้วยการเสนอให้มีกฎหมายแรงงานที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย รวมทั้งกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ ด้วย
 2.4 หน้าที่ในการระดมสรรพกำลังทางการเมือง   พรรคการเมืองจะทำหน้าที่เป็นศูนย์พลังทางการเมือง เพราะเป็นที่รวมของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ และประชาชนที่มีความคิดเห็นทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ในแนวทางกว้าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน เข้าด้วยกันเพื่อหาโอกาสเป็นรัฐบาล ซึ่งจะสามารถนำเอานโยบายของพรรคการเมืองของตนไปปกครองประเทศ พรรคการเมืองจึงเป็นที่รวมในการระดมสรรพกำลังต่าง ๆ เพื่อให้เกิดอำนาจต่าง ๆ เรียกร้องและรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนและกลุ่มของประชาชนต่าง ๆ เพื่อนำมาบริหารประเทศ
                2.5 หน้าที่เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ เมื่อสมาชิกของพรรคได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรฝ่ายเสียงข้างมากในรัฐสภาในกรณีรัฐบาลรูปแบบรัฐสภา ย่อมถือได้ว่า ประชาชนมีความประสงค์ให้นโยบายของพรรคการเมืองนั้น เป็นนโยบายของรัฐบาล ส่วนในรูปแบบรัฐบาลแบบประธานาธิบดี   ประชาชนจะเลือกผู้นำฝ่ายบริหารจากพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดโดยตรง
                2.6 หน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านในระบอบประชาธิปไตย   พรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้งน้อยและไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน   หน้าที่ของฝ่ายค้านนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับระบอบประชาธิปไตย เพราะทำหน้าที่เป็นเสมือนกระจกเงาให้รัฐบาลได้ทราบว่ามีสิ่งใดที่รัฐบาลบริหารงานขาดตกบกพร่องไปบ้าง หรือสิ่งใดที่รัฐบาลควรทำเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ   พรรคการเมืองฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ท้วงติงคัดค้านหรือยับยั้งมิให้รัฐบาลใช้อำนาจเกินขอบเขตจนกลายเป็นเผด็จการโดยเสียงข้างมาก   นอกจากนี้พรรคฝ่ายค้านยังทำหน้าที่ควบคุมให้รัฐบาลปฏิบัติตามนโยบายของตนที่ได้แถลงไว้ต่อสภา
                2.7 หน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางของกลุ่มผลประโยชน์และสมาชิกพรรคการเมืองเนื่องจากพรรคการเมืองเป็นที่รวมของบุคคลหลายกลุ่มหลายอาชีพมากมาย ฉะนั้น โอกาสที่จะเกิดความแตกแยกทางความคิดเห็น จึงมักจะมีอยู่เสมอ พรรคการเมืองจึงสามารถทำหน้าที่เสมือนเป็นเวทีให้สมาชิกต่าง ๆ ของพรรคได้ระบายความอัดอั้นตันใจของตน หรือกลุ่มของตน เพื่อนำไปสู่การตกลงด้วยสันติวิธีก่อนที่จะนำปัญหาต่าง ๆ ไปอภิปรายในสภา โดยนัยนี้เอง พรรคการเมืองเป็นศูนย์กลางในการประสานการติดต่อและสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างมวลสมาชิกของพรรค รวมทั้ง ระหว่างพรรคต่อพรรค ระหว่างพรรคต่อรัฐบาล และระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนทั่วไปด้วย
                2.8 หน้าที่สร้างผู้นำทางการเมือง ในประเทศประชาธิปไตย พรรคการเมืองจะเป็นสถาบันที่สร้างผู้นำทางการเมืองที่ดีเพื่อผลิตออกไปเป็นนักการเมืองอาชีพที่มีความสามารถและพร้อมที่จะดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองในระดับต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการมหานครและนายกเทศมนตรี เป็นต้น สถาบันอื่น ๆ ที่มิใช่พรรคการเมือง ย่อมมีความเหมาะสมน้อยกว่าในการผลิตผู้นำทางการเมือง เช่น สถาบันราชการย่อมมีความเหมาะสมที่จะผลิตผู้นำทางการบริหารหรือข้าราชการที่ดีเท่านั้น แต่มิใช่ผลิตผู้นำทางการเมือง เพราะการเป็นผู้นำทางการเมืองย่อมมีลักษณะแตกต่างไปจากผู้นำทางการบริหารเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ผู้บริหารหรือข้าราชการเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย คำสั่งและระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ซึ่งฝ่ายการเมืองเป็นผู้วางไว้ให้ ส่วนผู้นำทางการเมืองเป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ฉะนั้น นักการเมืองจะต้องเข้าใจการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองของประชาชน การประสานประโยชน์ต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างความสามัคคีของกลุ่มต่าง ๆ ด้วยการวางนโยบายของพรรคและเมื่อพรรคได้เป็นรัฐบาลก็จะต้องเอานโยบายเหล่านี้ไปใช้โดยมีข้าราชการซึ่งเป็นฝ่ายบริหารเป็นผู้ปฏิบัติตาม ฉะนั้นในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองจึงเป็นสถาบันที่ฝึกอบรมและสร้างผู้นำทางการเมืองที่เหมาะสมกว่าสถาบันอื่นใด
 สรุป พรรคการเมืองมีหน้าที่ที่สำคัญได้แก่ หน้าที่ในการให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน โดยการบรรยาย อภิปรายตามโอกาสต่าง ๆ หน้าที่ในการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการเป็นผู้แทนราษฎร เพราะบุคคลที่เป็นนักการเมืองจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะนอกเหนือจากความรู้ความสามารถแล้วต้องเสียสละและมีความรับผิดชอบต่อสังคม หน้าที่ประสานประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์ หน้าที่ทำได้โดยการเสนอกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หน้าที่ในการระดมสรรพกำลังทางการเมือง คน และกลุ่มผลประโยชน์ที่มีแนวทางเดียวกันสามารถมารวมพลังกันกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งถ้าพรรคการเมืองชนะการเลือกตั้งก็จะต้องทำหน้าที่เป็นรัฐบาล เมื่อเป็นรัฐบาลก็จะได้นำนโยบายที่กำหนดไว้ไปใช้ นอกจากจะเป็นรัฐบาลแล้ว พรรคการเมืองก็ต้องพร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เพราะฝ่ายค้านเป็นเสมือนกระจกเงาให้รัฐบาลได้ทราบถึงผลของการบริหารงาน นอกจากนี้ พรรคการเมืองยังเป็นเวทีให้มีการอภิปรายปัญหาต่าง ๆ ก่อนที่จะนำเข้าสู่สภา และพรรคการเมืองยังทำหน้าที่สร้างผู้นำทางการเมืองที่สามารถต่อรองผลประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อประชาชนได้
 3. ระบบพรรคการเมือง
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ (มปป: 116-119) ได้จำแนกพรรคการเมืองในโลกนี้ออกเป็น 3 ระบบ คือ
                3.1 ระบบพรรคเดียว (Single Party System)  ประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการมักจะมีการปกครองระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว ดังเช่น พรรคฟาสซิสต์ของอิตาลีสมัยมุสโสลินียังครองอำนาจอยู่ พรรคนาซีของเยอรมันสมัยฮิตเลอร์ ประเทศในอาฟริกาทั้งหลาย มีการปกครองแบบเผด็จการในรูปลักษณะของรัฐบาลแบบคณะรัฐมนตรีซึ่งมีระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว แต่ก็มิได้หมายความว่าประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะไม่มีระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวก็หาไม่ ซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันในหมู่นักรัฐศาสตร์ที่ยกเอาประเทศสิงคโปร์ และญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างของพรรคเด่นพรรคเดียว (One Dominant Party) กล่าวคือ พรรคการเมืองในประเทศเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะมีพรรคการเมืองอื่น ๆ สมัครแข่งขันอยู่เสมอก็ตาม แต่พรรคใหญ่ ๆ จะครองอำนาจและเสียงส่วนใหญ่ได้อย่างเหนียวแน่นเสมอ เป็นเวลานานหลายสิบปี ในกรณีสิงคโปร์ และญี่ปุ่นนี้บางตำราก็จัดอยู่ในระบบหลายพรรค บางตำราก็จัดอยู่ในระบบพรรคเดียว ขณะเดียวกัน ประเทศอินเดียที่ในอดีตมีพรรคอินเดียเนชั่นคองเกรส (Indian National Congress Party) เป็นพรรคการเมืองเดี่ยว แต่ต่อมาภายหลังพรรคอื่น ๆ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจนพรรคคองเกรสนี้หมดสภาพการเป็นพรรคการเมืองเดี่ยวไป
 3.2 ระบบสองพรรค (Two Party System)   พรรคการเมืองระบบสองพรรคนี้ บรรดานักรัฐศาสตร์ทั้งหลายมีความเห็นเกือบเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นระบบพรรคการเมืองที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ ประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีของความมั่นคงทางการเมืองอย่างมากก็คือ ประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับพรรคการเมืองระบบสองพรรคซึ่งเป็นคู่แข่งกันนั้นมักจะมีความแตกต่างกันในเรื่องที่มีความสำคัญลำดับรองลงมา กล่าวคือ หลักใหญ่ ๆ หรือปรัชญาทางการเมืองมักไม่ผิดแผกกันมากนัก เช่น การเป็นประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม ฯลฯ ดังตัวอย่างของพรรคอนุรักษ์นิยม (The Conservative Party) และพรรคแรงงาน (The Labor Party) ของอังกฤษ กับพรรครีพับลิกัน (The Republican Party) และพรรคดีโมแครต (The Democratic Party) ของประเทศสหรัฐอเมริกา   บรรดาพรรคการเมืองทั้ง 4 นี้ มีปรัชญาและนโยบายใหญ่ในทางประชาธิปไตยผสมกับสังคมนิยม ส่วนข้อแตกต่างอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องรองลงมา เช่น นโยบายการทหาร นโยบายเศรษฐกิจ นโยบายทางสังคม ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว พรรคการเมืองแบบสองแบบนี้เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับธรรมชาติ กล่าวคือ ตามธรรมดามนุษย์เรามักเลือกของในขั้นสุดท้ายซึ่งเหลือแต่เพียงสองอย่าง หลังจากการเลือกแล้วเลือกอีก จนในที่สุดต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
 สรุปได้ว่า บรรดาประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคนี้มักจะมีความมั่นคงทางการเมืองสูงมาก เพราะมีลักษณะพยายามเป็นตัวแทนของคนทุก ๆ กลุ่ม เช่น พรรคอนุรักษ์นิยมก็มีนโยบายที่จะช่วยพวกกรรมกรเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ต่อต้านพวกกรรมกรซึ่งมักจะเป็นสมาชิกพรรคแรงงาน อีกประการหนึ่งก็คือ อุดมการณ์มักจะไม่รุนแรง ไม่เอาใจประชาชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเท่านั้น แต่ต้องพยายามทำให้พรรคเป็นที่ชื่นชมของประชาชนทุก ๆ กลุ่ม
                3.3 ระบบหลายพรรค (Multi-party System)   พรรคการเมืองระบบหลายพรรค คือ ประเทศที่มีพรรคการเมืองตั้งแต่สามพรรคขึ้นไป พรรคการเมืองระบบหลายพรรคนี้เป็นลักษณะของประเทศประชาธิปไตยในยุโรปตะวันตก และ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย บรรดาประเทศเหล่านี้มักจะมีพรรคการเมืองมากกว่าสามพรรค คือ ประมาณห้าหรือหกพรรค จะหาพรรคหนึ่งพรรคเดียวที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภาแทบจะไม่ได้เลย ดังนั้น การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีจึงมักเป็นไปในรูปของรัฐบาลผสม (Coalition Government) โดยบรรดารัฐมนตรีเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองต่างพรรคกัน ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองต้องร่วมมือกัน ตามธรรมดาแล้วก็จะเป็นพรรคการเมืองสองพรรคร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น โดยมีข้อแม้ว่าพรรคการเมืองสองพรรคนี้รวมกันแล้วต้องมีเสียงข้างมากในรัฐสภา ถ้าสองพรรครวมกันแล้วไม่มีสมาชิกรัฐสภาเพียงพอที่จะเป็นเสียงข้างมากได้ก็อาจต้องตั้งรัฐบาลผสมสอง สาม หรือสี่พรรคการเมืองขึ้น ในประเทศไทยครั้งหนึ่งเคยผสมกันถึง 18 พรรค
 พรรคการเมืองในระบบหลายพรรคนี้ เมื่อมีการตั้งรัฐบาลผสมขึ้นนั้น ถ้าผลประโยชน์ขัดกันและการร่วมมือกันไม่มีความมั่นคงแล้ว เสถียรภาพของรัฐบาลก็จะอ่อนแอมาก ดังตัวอย่าง ประเทศอิตาลี คณะรัฐบาลล้มในระยะเวลาอันสั้นติดต่อกัน เนื่องจากพรรคการเมืองซึ่งประกอบเป็นรัฐบาลผสมไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ รัฐบาลก็อ่อนแอและไม่มั่นคง   ส่วนประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ดูเหมือนจะมีความมั่นคงทางการเมืองสูง ถึงแม้ว่าระบบพรรคการเมืองเป็นแบบหลายพรรคก็ตาม คงเป็นเพราะว่าพรรคการเมืองซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลผสมนั้น สามารถร่วมมือและทำงานร่วมกันได้ดี ระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเลือกผู้แทนราษฎรซึ่งมีความคิดเห็นใกล้เคียงกับตัวเองได้มากกว่าระบบสองพรรค กล่าวคือ มีโอกาสเลือกมากกว่า แต่เสถียรภาพของรัฐบาลมักจะน้อยกว่า
 สรุป ระบบพรรคการเมืองแบ่งได้ 3 ระบบ คือ ระบบพรรคเดียว ระบบสองพรรค และระบบหลายพรรค   ระบบพรรคเดียวเป็นการปกครองของระบอบเผด็จการ   ระบบสองพรรคเป็นของประเทศอังกฤษกับประเทศสหรัฐอเมริกา   และระบบหลายพรรคเป็นของประเทศในยุโรปตะวันตกและกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย รวมไปถึงประเทศไทยก็เป็นระบบหลายพรรค   ระบบพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นระบบใดล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การแสวงหาอำนาจทางการเมือง ตามที่วิถีทางหรือรัฐธรรมนูญของแต่ละรัฐกำหนดไว้

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2540)


       กระบวนการทั้งหลายเหล่านี้เป็นกระบวนการสำคัญที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ได้กำหนดไว้ในหลายๆส่วนรวมทั้งโดยเฉพาะในหมวด 10 อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ "การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ" ความจำเป็นของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว ประสบการณ์ในระบอบประชาธิปไตยของเราแสดงให้เห็นถึง "การกระทำ" หลายๆอย่างที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเข้ามา "ใช้อำนาจรัฐ" ไม่ว่าจะโดยฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายประจำก็ตาม บางครั้งบางกรณีก็เกิดการใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง ทำให้มีผู้พยายาม "เข้าสู่ตำแหน่ง" กันมากขึ้นเพราะความหอมหวนของอำนาจเป็นที่มาของหลายๆสิ่ง ที่ผ่านมา กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแม้จะมีอยู่แต่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งคือ ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จึงได้วางกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเสียใหม่เพื่อให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมีประสิทธิภาพและครบถ้วนยิ่งขึ้น
       บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อ "นำเสนอ" กลไกและกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างสังเขปเพื่อให้ผู้อ่านมองเห็นภาพรวมทั้งระบบของกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยผู้เขียนจะขอนำเสนอบทความนี้ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันตามขั้นตอนของการดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ระหว่างการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง
       1. ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเข้าสู่ตำแหน่งได้ก็แต่โดยการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง ในบทความนี้จะไม่ขอกล่าวถึงระบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้พยายามที่จะวางกลไกเพื่อให้คนที่สุจริตและมีความสามารถเข้าสู่ระบบการเมืองได้มากขึ้น แต่จะขอกล่าวถึงกระบวนการตรวจสอบเมื่อผ่านพ้นการเลือกตั้งและ "ได้ตัว" ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆแล้ว
       "การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน" เป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน ของคู่สมรส และของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองก็คือเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานทางการเมืองของนักการเมืองโดยการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินจะชี้ให้เห็นว่า "คุณมีอยู่เท่าไหร่" เมื่อเข้ามา "เล่น" การเมือง และ "คุณมีอยู่เท่าไหร่" เมื่อ "ออกจาก" การเมือง
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ได้กำหนดไว้ในมาตรา 291 ให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองอื่น รวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งของตนเอง ของคู่สมรสและของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง โดยในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนั้นต้องเป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดพร้อมด้วยเอกสารประกอบซึ่งเป็นสำเนาหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินรวมตลอดถึงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมาด้วย เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ยื่นบัญชีฯแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็จะดำเนินการลงลายมือชื่อกำกับไว้ในบัญชีทุกหน้า โดยบัญชีฯของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้นจะต้องเปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็วภายใน 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดที่ต้องยื่นบัญชีฯ ส่วนบัญชีฯ ของผู้ดำรงตำแหน่งอื่นห้ามเปิดเผยเว้นแต่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีหรือการวินิจฉัยชี้ขาด และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับการร้องขอจากศาลหรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และนอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังต้องตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ยื่นไว้ด้วย หากตรวจสอบพบความผิดปกติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 แห่งรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งและต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดเป็นเวลา 5 ปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
       2. ระหว่างการดำรงตำแหน่ง รัฐธรรมนูญได้วางกลไกในการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้หลายประการด้วยกัน คือ
                2.1          การตรวจสอบคณะรัฐมนตรีโดยรัฐสภา หากไม่นับรวมการซักถามและอภิปรายนโยบายของคณะรัฐมนตรี การพิจารณาร่างกฎหมายประเภทต่างๆและการพิจารณาพระราชกำหนดแล้ว รัฐสภาสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของคณะรัฐมนตรีได้โดย
                (ก) ตั้งกระทู้ถาม ตามมาตรา 183 และมาตรา 187 แห่งรัฐธรรมนูญซึ่งแยกได้เป็นสองประเภทคือ การตั้งกระทู้ถามทั่วๆไปที่รัฐมนตรีสามารถตอบในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือตอบในราชกิจจานุเบกษาได้ กับการตั้งกระทู้ถามสดที่จะต้องถามและตอบด้วยวาจาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อนึ่ง สมาชิกวุฒิสภาสามารถตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีได้เช่นกันโดยผู้ถามจะต้องแสดงความประสงค์ว่าจะให้ตอบในราชกิจจานุเบกษาหรือจะให้ตอบในที่ประชุมวุฒิสภา
                (ข) การเปิดอภิปรายทั่วไป มีอยู่ 2 กรณี คือ กรณีตามมาตรา 185 วรรคแรก เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี การเสนอญัตติตามมาตรา 186 วรรคแรก เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
                (ค) คณะกรรมาธิการ คณะกรรมมาธิการมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการดำเนินการของฝ่ายบริหารโดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในมาตรา 189 ให้มีหน้าที่กระทำการพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา แล้วรายงานต่อสภา คณะกรรมาธิการมีทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
       2.2   การถอดถอนจากตำแหน่ง เป็นกลไกในการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงว่ามีความเหมาะสมหรือสมควรที่จะให้ผู้นั้นดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ต่อไปหรือไม่

                  
                (ก) เหตุในการถอดถอน ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย (มาตรา 303 แห่งรัฐธรรมนูญ)
                (ข)           ตำแหน่งที่ถูกถอดถอน ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (มาตรา 303 แห่งรัฐธรรมนูญ) รวมทั้งตำแหน่งผู้พิพากษา ตุลาการ พนักงานอัยการหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 คือ รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลปกครองสูงสุด หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร รองอัยการสูงสุด และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงอันได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม ทบวง หรือกระทรวง สำหรับข้าราชการพลเรือน ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพหรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดสำหรับข้าราชการทหาร ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กฎหมายอื่นบัญญัติ
                (ค)          กระบวนการถอดถอน มีขั้นตอนดังนี้
                (ค.1)       สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรร้องขอต่อประธานวุฒิสภาหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน เข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตาม (ข) หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้ถอดถอนสมาชิกวุฒิสภาผู้หนึ่งผู้ใดออกจากตำแหน่ง
                (ค.2)       ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน
                (ค.3)       เมื่อไต่สวนเสร็จ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องกลับไปยังวุฒิสภา ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ อนึ่ง ในกรณีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องส่งรายงานดังกล่าวให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย
                (ค.4)       การถอดถอนโดยวุฒิสภาจะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
                (ง)           ผลของการถอดถอน ผู้ถูกวุฒิสภาถอดถอนจะต้องพ้นจากตำแหน่งหรือถูกถอดถอนออกจากราชการนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนและผู้นั้นจะถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือในการรับราชการเป็นเวลา 5 ปี
                2.3          การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นกระบวนการสำคัญอีกกระบวนการหนึ่งในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่รัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2540) กำหนดไว้ โดยมุ่งที่จะตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทำผิดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ จะต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรพิเศษเพื่อให้ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง โดยมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ ดังนี้คือ
                (ก)          คดีที่อยู่ในอำนาจการพิจารณา ได้แก่
                (ก.1)       คดีที่มี่มูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหานายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
                (ก.2)       คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาบุคคลตาม (ก.1) หรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดทางอาญาตาม (ก.1)
                (ก.3)       คดีซึ่งประธานวุฒิสภาส่งคำร้องให้ศาลพิจารณาพิพากษาข้อกล่าวหาว่ากรรมการ ป.ป.ช. ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
                (ก.4)       คดีที่ร้องขอให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองอื่น ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นตามกฎหมายที่บัญญัติตกเป็นของแผ่นดิน
                (ข)           องค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณาคดี ได้แก่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จัดตั้งขึ้นโดยหมวด 10 ส่วนที่ 4 มาตรา 308 ถึงมาตรา 311 แห่งรัฐธรรมนูญ
                (ค)          กระบวนพิจารณาคดี เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าคดีตามข้อ (ก.1) (ก.2) และ (ก.4) มีมูลพอที่จะดำเนินคดี คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องส่งรายงานเอกสาร และพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนกรณีตามข้อ (ก.3) นั้น ประธานวุฒิสภาสามารถส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง
                เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ประธานศาลฎีกาต้องเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเลือกผู้พิพากษาศาลฎีกาให้มาเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542

                  
                ในการพิจารณาคดี ศาลจะต้องดำเนินการพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานต่อเนื่องไปทุกวันทำการจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา
                (ง)           ผลการพิจารณาคดี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถสั่งลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา สั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินผิดปกติ รวมทั้งสามารถสั่งให้มีการดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช.ที่ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอีกด้วย
       3.     การพ้นจากตำแหน่ง การตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้มีเฉพาะที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง ผู้นั้นก็จะถูกตรวจสอบอีกด้วยการที่จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อ "พิสูจน์" ให้เห็นว่า ตนมีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มขึ้นหรือลดลงกว่าเมื่อตอนเข้าสู่ตำแหน่งหรือไม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ
                3.1          การพ้นจากตำแหน่งปกติ ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหลายที่ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อ 1. พ้นจากตำแหน่ง ต้องยื่นบัญชีฯ ภายใน 30 วันนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง และหากผู้นั้นเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะต้องยื่นบัญชีฯ อีกครั้งหนึ่งภายใน 30 วันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี
                3.2          การพ้นจากตำแหน่งในกรณีตาย ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองตายในระหว่างดำรงตำแหน่งหรือก่อนยื่นบัญชีหลังพ้นจากตำแหน่ง ทายาทหรือผู้จัดการมรดกจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่ในวันที่ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นตายภายใน 90 วันนับแต่วันที่ผู้ดำรงตำแหน่งตาย
      
                เมื่อยื่นบัญชีฯ แล้ว กระบวนการและผลก็เป็นเช่นเดียวกับการยื่นบัญชีฯ เมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง ดังกล่าวมาแล้วในหัวข้อ 1.
              สรุป รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ได้วางกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้หลายกระบวนการ โดยแต่ละกระบวนการก็เป็นกระบวนการที่สอดคล้องกัน กล่าวคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจนำไปสู่กระบวนการถอดถอนและถูกลงโทษทางอาญาโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เป็นต้น กระบวนการเหล่านี้ แม้จะเพิ่งเกิดขึ้นมาในระยะเวลาไม่นานมานี้เองแต่ด้วย "ความสามารถ" ของบรรดากลไกในการตรวจสอบทั้งหลายทำให้สามารถ "คาดเดา" ได้ว่า ในวันข้างหน้าด้วยกลไกทั้งหลายที่มีอยู่จะทำให้ประเทศไทย "สะอาด" และ "ปราศจาก" ผู้ที่เข้ามาฉกฉวยและหาประโยชน์จากการใช้อำนาจรัฐ

       หมายเหตุ ข้อมูลทั้งหมดได้มาจาก "สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540)" ที่จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า