วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

กลุ่มผลประโยชน์ (Interest groups)


 1. ความหมายของกลุ่มผลประโยชน์
                อัลมอนด์ และเพาเวลล์ (Almond & Powell, 1966: 75) ได้นิยามกลุ่มผลประโยชน์ไว้ว่า หมายถึง กลุ่มคนที่เชื่อมโยงกัน โดยมีความสนใจหรือห่วงใยในสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันและโดยมีความสำนึกอยู่ไม่มากก็น้อยว่าเขามีความเชื่อมโยงดังกล่าวกันอยู่
                จุมพล หนิมพานิช (2542: 224) อธิบายว่า กลุ่มผลประโยชน์ (Interest Group) หมายถึง กลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน แต่ถ้าสมาชิกของกลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าวได้ก่อตั้งองค์การ (หรือกลุ่มที่มีการจัดระเบียบโครงสร้างอย่างดี) ขึ้นมาที่จะช่วยให้พวกเขาเองได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อให้เป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่พวกเขาได้ตั้งใจไว้บรรลุผล
                อานนท์ อาภาภิรม (2545: 97) อธิบายว่า กลุ่มผลประโยชน์ หมายถึง กลุ่มบุคคล สมาคม สหพันธ์ หรือสหบาล ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองที่จะเป็นรัฐบาล หน้าที่สำคัญของกลุ่มผลประโยชน์ คือ พยายามรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนโดยเสนอความคิดเห็นของตนต่อรัฐบาล หรือใช้อำนาจ หรือใช้อิทธิพลบีบบังคับรัฐบาลให้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม
                สุขุม นวลสกุล และวิศิฐ์ ทวีเศรษฐ์ (2542: 239) กล่าวว่า กลุ่มผลประโยชน์ คือ กลุ่มของบุคคลที่รวมกันเพราะมีอาชีพหรือมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน และมีความต้องการที่จะให้นโยบายของรัฐบาลสนองต่อความต้องการของกลุ่มคน การรวมกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์มีลักษณะคล้ายคลึงกับการรวมกันเป็นพรรคการเมือง ความแตกต่างของกลุ่มผลประโยชน์กับพรรคการเมืองอยู่ตรงที่พรรคการเมืองต้องการเป็นรัฐบาลเพื่อกำหนดนโยบายเสียเอง ส่วนกลุ่มผลประโยชน์ไม่ต้องการเป็นรัฐบาลเอง แต่ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่ม
                สรุป กลุ่มผลประโยชน์ หมายถึง กลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันโดยมีวัตถุประสงค์และผลประโยชน์ร่วมกัน มีทัศนคติไปในแนวทางเดียวกัน กลุ่มผลประโยชน์แตกต่างจากพรรคการเมือง เพราะไม่ได้ต้องการเป็นรัฐบาลแต่ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายสอดคล้องตรงกับความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์
 2. ประเภทของกลุ่มผลประโยชน์
 อัลมอนด์ และเพาเวลล์ (Almond & Powell, 1966: 75-80) ได้แบ่งประเภทกลุ่มผลประโยชน์ออกเป็น 4 ประเภทดังนี้
                2.1 กลุ่มผลประโยชน์ของบุคคลที่เคว้งคว้างไร้บรรทัดฐาน (Anomic Interest Groups) กลุ่มผลประโยชน์ประเภทนี้จะปะทุขึ้นอย่างค่อนข้างจะกะทันหันตามอารมณ์ เช่น การจลาจล การลอบสังหารตลอดจนการเดินขบวนประท้วง การเรียกร้องผลประโยชน์ในรูปลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นในสภาพที่ไม่มีกลุ่มที่ได้รับการจัดตั้งอยู่ในสังคม หรือว่าหากมีก็มีบางกลุ่มที่ถูกปิดกั้นมิให้แสดงออกซึ่งความต้องการ ดังนั้น ความไม่พึงพอใจที่ถูกปิดอยู่กดดันไว้จะปะทุออกมาถ้ามีเหตุการณ์เอื้ออำนวยหรือมีผู้ชักนำหรือปลุกระดมให้เกิดขึ้น การชักนำนี้อาจกระทำโดยผู้ที่อยู่ในอำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของเขาเองก็ได้ แต่ข้อสำคัญไม่มีการจัดตั้งเป็นองค์กรแต่อย่างใด
                2.2 กลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่มีการจัดตั้ง (Non - Associational Interest Groups) หมายถึง กลุ่มเครือญาติ กลุ่มเชื้อชาติ กลุ่มภูมิภาค กลุ่มสถานภาพ กลุ่มชนชั้น กล่าวคือ เป็นกลุ่มคนที่อาจไม่ได้พบปะกันอย่างสม่ำเสมอ แต่มีความรู้สึกร่วมกัน มีความเชื่อมโยงกันทางจิตใจทางวัฒนธรรมอย่างรู้ใจกันพอสมควร การเรียกร้องผลประโยชน์ของกลุ่มนี้จะเป็นครั้งคราว โดยผ่านบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือผู้นำ เช่น ผู้นำทางศาสนา ตัวอย่างเช่น การที่เจ้าของที่ดินหลายคนขอร้องข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือรัฐมนตรีให้พิจารณาไม่ขึ้นภาษีที่ดิน โดยที่การขอร้องนี้เกิดขึ้นเมื่อเล่นกอล์ฟด้วยกัน
 2.3 กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นสถาบัน (Institutional Interest Groups) กลุ่มผลประโยชน์ประเภทนี้จะเป็นองค์กรที่เป็นทางการ (Formal Organizations) เช่น พรรคการเมือง สถาบันนิติบัญญัติ กองทัพ ศาสนา หน่วยราชการและสถาบันอื่น ๆ ซึ่งมีหน้าที่เฉพาะอย่างอื่นที่ไม่ใช่การเรียกร้องผลประโยชน์ กลุ่มเหล่านี้อาจเรียกร้องผลประโยชน์ของกลุ่มเอง หรือทำหน้าที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของกลุ่มอื่นในสังคม นอกจากนั้นกลุ่มย่อยภายในสถาบันสำคัญ ๆ เหล่านี้ อาจทำหน้าที่เรียกร้องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตนก็ได้ โดยอาศัยความยอมรับนับถือในสถาบันที่สังกัดอยู่เป็นทรัพยากรในการที่จะได้มาซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง ตัวอย่างเช่น กลุ่มนักการธนาคารในพรรคอนุรักษ์นิยมพรรคหนึ่งอาจใช้อิทธิพลของพรรคในวันที่จะเพิ่มพูนผลประโยชน์ให้แก่วงการธนาคารหรือกลุ่มผู้นำกองทัพบกทำการเรียกร้องผลประโยชน์ให้แก่ชาวนาผู้ยากไร้ เป็นต้น ในสังคมกำลังพัฒนา กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นสถาบัน เช่น สถาบันราชการ สถาบันทหารมีการจัดตั้งอย่างเหนียวแน่นและมีอำนาจมากในสังคม ในขณะที่กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นทางการ นอกจากสถาบันดังกล่าวมีน้อยหรือไม่ก็ขาดประสิทธิภาพ
                2.4 กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นทางการ (Associational Interest Groups) กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นทางการในที่นี้ หมายถึง มีการจัดตั้ง มีสมาชิกเป็นการแน่นอนไม่ได้หมายความถึงที่เป็นทางราชการ ตัวอย่างกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นทางการ คือ สหภาพแรงงาน สมาคมนักธุรกิจ สมาคมชาติพันธุ์และกลุ่มประชาชนประจำท้องถิ่นต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นปากเสียงแทนผลประโยชน์ของกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ กลุ่มเหล่านี้มักจะมีระเบียบวิธีการที่จะเรียกร้องผลประโยชน์และนำข้อเรียกร้องเสนอต่อระบบการเมือง ในสังคมที่พัฒนาแล้ว กลุ่มเหล่านี้จะได้เปรียบกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ จะได้รับการยอมรับว่าชอบธรรมและจะมีมากมายหลายกลุ่มครอบคลุมถึงกลุ่มชนต่าง ๆ ในสังคม
            สรุป ประเภทของกลุ่มผลประโยชน์ มี 4 ประเภท 2 ประเภทแรกได้แก่ กลุ่มผลประโยชน์ของบุคคลที่เคว้งคว้างไร้บรรทัดฐานและกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่มีการจัดตั้ง 2 กลุ่มนี้เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการจัดตั้ง   กลุ่มแรก เกิดขึ้นอย่างกะทันหันตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กลุ่มหลังถึงแม้ไม่มีการจัดตั้งแต่มีความเป็นกลุ่มร่วมกันผ่านทางเครือญาติ เชื้อชาติ ภูมิภาค สถานภาพและชนชั้น   2 ประเภทหลัง ได้แก่ กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นสถาบัน ได้แก่ พรรคการเมือง สถาบันนิติบัญญัติ กองทัพ ศาสนา หน่วยราชการ กลุ่มนี้มีการจัดตั้งมีสมาชิกแน่นอน เช่น สหภาพแรงงาน สมาคมนักธุรกิจ สมาคมชาติพันธุ์ กลุ่มนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นปากเสียงเรียกร้องผลประโยชน์ให้กลุ่มโดยเฉพาะ จะเห็นได้ว่า กลุ่มผลประโยชน์ทั้ง 4 ประเภทนี้ล้วนมีผลต่อกระบวนการทางการเมือง
 3. บทบาทหน้าที่ของกลุ่มผลประโยชน์
                แสวง   รัตนมงคลมาศ (2540: 784-785 อ้างถึงใน สยาม ดำปรีดา. 2547: 186) ได้อธิบายถึงบทบาทหน้าที่ของกลุ่มผลประโยชน์ว่ามีดังนี้
 3.1 บทบาทหน้าที่ในการป้อนนโยบาย (Policy Input) การป้อนนโยบายนี้ หมายถึง บทบาทในการพยายามใช้อิทธิพลของกลุ่มผลักดันให้ฝ่ายกำหนดนโยบายดำเนินการออกหรือกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มคน ซึ่งฝ่ายที่กำหนดนโยบายเป็นฝ่ายใดก็แล้วแต่   ข้อเท็จจริงของแต่ละหรือระบอบการเมืองที่ไม่เหมือนกัน โดยในบางแห่งอาจเป็นพรรคการเมืองบางแห่งของรัฐบาล บางแห่งเป็นรัฐบาล และในบางแห่งคือ ระบบราชการ ส่วนยุทธวิธีในการผลักดัน อาจทำได้หลายรูปแบบ นับตั้งแต่วิธีการป้อนข้อมูลข่าวสารของตนให้กับฝ่ายที่กำหนดนโยบายเข้าร่วมตกลงหรือต่อรองให้มีการแบ่งผลประโยชน์และหยิบยื่นผลประโยชน์ทั้งในทางที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรมให้กับฝ่ายกำหนดนโยบาย ทั้งนี้เพื่อโน้มน้าวให้นโยบายที่ออกมานั้นเป็นไปตามทิศทางของกลุ่มตน ตลอดจนวิธีการเรียกร้องหรือเดินขบวนสนับสนุนหรือต่อต้าน ก็ถือว่าเป็นอีกยุทธวิธีหนึ่งของการผลักดันนโยบาย
 3.2 บทบาทหน้าที่ในการประสานและขานรับนโยบาย (Policy Coordinator and Implementator) นอกจากการผลักดันนโยบายแล้ว การประสานและขานรับนโยบายที่กลุ่มตนเห็นด้วย ยังถือเป็นหน้าที่หลักอีกด้านหนึ่งของกลุ่มผลประโยชน์ ทั้งนี้ เพื่อให้นโยบายที่ออกมาสามารถบรรลุผลสำเร็จในทางปฏิบัติที่กว้างขวางขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น   กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มมีเป้าหมายในการประสานและขานรับนโยบายมากกว่าที่จะผลักดันนโยบาย กลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่จัดตั้งโดยฝ่ายนโยบายหรือฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ เพื่อคอยขานรับนโยบายของตนที่ออกมาและเพื่อดำเนินการต่อต้านกลุ่มต่อต้านเมื่อเกิดกรณีขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งกลุ่มเพื่อประสานและขานรับนโยบายของผู้กุมอำนาจปกครองประเภทนี้ ทำให้เกิดกลุ่มที่ไม่อิสระขึ้นและทำให้มีความขัดแย้งในสังคมสูง ซึ่งโดยทั่วไปประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะไม่ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะนี้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและเป็นการเพิ่มพูนความขัดแย้งและความรุนแรงให้กับกระบวนการพัฒนาการทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์มีความสำคัญในฐานะเป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานสถาบันการเมืองต่าง ๆ ในสังคม บทบาทของการเชื่อมประสานนี้สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ
                                3.2.1 การเชื่อมประสานในแนวดิ่ง (Vertical coordinator) หมายถึง การทำตัวเป็นตัวกลางในการส่งลูกขึ้นไป และรับลูกลงมา ซึ่งลูกที่ส่งไปและหรือรับมานั้นก็คือ นโยบายนั่นเอง ส่วนผู้ที่กลุ่มนำลูกหรือนโยบายไปส่งนั้น ย่อมหมายถึง ประชาชนที่ทางกลุ่มเป็นหรืออ้างเป็นตัวแทนสำหรับผู้รับลูกหรือนโยบายนั้นอาจเป็นพรรคการเมือง รัฐสภา รัฐบาลและหรือระบบราชการแล้วแต่กรณี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การเป็นผู้เชื่อมประสานระหว่างประชานกับสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ ในสังคม บทบาทของการเป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานระหว่างสถาบันประชาชนกับสถาบันทางการเมืองอันนี้นับว่าเป็นบทบาทที่จำเป็นและสำคัญที่สุดสำหรับกลุ่มผลประโยชน์ ทั้งนี้ เพราะถ้าปราศจากเสียซึ่งกลุ่มผลประโยชน์แล้วโอกาสและความเป็นไปได้ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและผลประโยชน์ของกลุ่มประชาชนต่าง ๆ ก็จะขาดกลไกที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านนี้   ขณะเดียวกันการผ่านนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของสถาบันการเมืองทั้งหลาย หมายถึง ประชาชนก็จำเป็นต้องมีกลุ่มผลประโยชน์เป็นกลไกเชื่อมโยงให้ มิฉะนั้นแล้ว โอกาสการส่งผ่านนโยบายย่อมมีน้อยและบางครั้งก็ไร้ประสิทธิภาพ
                3.2.2 การเชื่อมประสานในแนวนอน (Horizontal coordinator) หมายถึง การติดต่อสัมพันธ์ในระดับกลุ่มผลประโยชน์ด้วยกัน โดยทั่วไปกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มักจะดำเนินการอย่างอิสระของตนเอง แต่ถ้ามีเหตุการณ์หรือความจำเป็นบางอย่างก็อาจจะมีการเชื่อมประสานติดต่อกันหรือดำเนินกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับหลักแห่งผลประโยชน์ร่วมกันประการหนึ่งและหลักการมีศัตรูร่วมกันอีกประการหนึ่ง ตัวอย่างการเชื่อมประสานนั้นจะเห็นได้จากการร่วมมือของธุรกิจต่าง ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นเสมอตามสถานการณ์ หรือตัวอย่างการประสานงานระหว่างนิสิต นักศึกษา กับกรรมกรและชาวนาในการต่อต้านอำนาจเผด็จการ เป็นต้น

 สรุป ในสังคมระบอบประชาธิปไตย กลุ่มผลประโยชน์มีบทบาทไม่น้อยไปกว่าพรรคการเมือง โดยเฉพาะบทบาทในการป้อนนโยบาย เป็นการพยายามผลักดันนโยบายโดยใช้อิทธิพลของกลุ่มกดดันให้มีการกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น