วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

กระบวนการทางการเมือง

กระบวนการทางการเมือง
โกวิท  วงศ์สุรวัฒน์ (มปป: 113) อธิบายว่ากระบวนการทางการเมือง (Political Process) หมายถึง วิธีการใช้อำนาจอธิปไตย (Process) เป็นกระบวนการอยู่ระหว่างปัจจัยนำเข้า (Input) ก่อให้เกิดผลผลิต (Output) ออกมา เมื่อมีรัฐเกิดขึ้น ย่อมมีกระบวนการทางการเมือง จรูญ สุภาพ (2527: 104) อธิบายว่า กระบวนการทางการเมือง คือ เรื่องของการใช้อำนาจทางการเมือง การใช้อำนาจทางการเมืองเป็นสิ่งที่เก่าแก่สืบเนื่องกันมาช้านาน กระบวนการทางการเมืองนี้มีหลายวิธีแตกต่างกันตามยุคตามสมัยในสมัยโบราณ การเปลี่ยนมือการปกครองภายในประเทศระหว่างชนชั้นนำในชุมชนก็เป็นวิธีการใช้อำนาจทางการเมืองอย่างหนึ่ง บางชุมชนถือการสืบมรดกอำนาจทางการเมือง เหมือนการสืบมรดกในทรัพย์สิน   บางสังคมการใช้อำนาจทางการเมืองต้องได้รับความยินยอมจากบรรดาสมาชิกของสังคม ชุมชนบางแห่งใช้ความรุนแรงและอำนาจบังคับเป็นแนวทางในการครอบครองอำนาจและใช้อำนาจนั้น ทุกวิธีดังกล่าวข้างต้นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการทางการเมืองทั้งสิ้น
 กระบวนการทางการเมืองเป็นกิจกรรมที่มีความสลับซับซ้อน เพราะมีหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายหน่วย แต่ละหน่วยมีความรับผิดชอบโดยเฉพาะ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องประสานงานกัน เพื่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากอำนาจอธิปไตยประกอบด้วยอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ยกตัวอย่างฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ออกกฎหมาย ฝ่ายบริหารมีหน้าที่กำกับควบคุมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ฝ่ายตุลาการจะเป็นผู้ตัดสินว่ากระทำผิดจริงหรือไม่ และตัดสินลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด

          กระบวนการทางการเมืองครอบคลุมตั้งแต่สถาบันทางการเมือง ซึ่ง ได้นำเสนอถึงสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติ   สถาบันฝ่ายบริหาร และสถาบันตุลาการ ในระบอบการปกครองแบบรัฐสภาและแบบประธานาธิบดี เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจกระบวนการทางการเมืองให้ครบถ้วน บทที่ 7 จึงเป็นการศึกษาเรื่องพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ระบบราชการและสื่อมวลชน ซึ่งจะมีความสัมพันธ์และมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ในกระบวนการทางการเมือง ประหนึ่ง น๊อตของเครื่องจักร ถ้าตัวใดตัวหนึ่งหายไปจะเป็นเหตุให้เครื่องจักรชำรุดได้
พรรคการเมือง (Political Party)
                1. ความหมายของพรรคการเมือง  นักรัฐศาสตร์หลายท่านได้ให้คำจำกัดความของพรรคการเมืองไว้ดังนี้
 วิลเลียม กูดแมน (Goodman, 1975: 8) อธิบายว่า พรรคการเมือง คือ องค์การซึ่งเป็นที่รวมกันของสมาชิกที่มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกัน โดยมีความม่งหมายอย่างชัดแจ้งที่หวังจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอันจะทำให้มีสิทธิเข้าไปใช้อำนาจการปกครองเพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากการเข้าไปมีอำนาจทางการเมือง
                ที. เอส. สตีเวนสัน (Stevenson, 1973: 218) ให้คำนิยามว่า พรรคการเมืองประกอบด้วย กลุ่มบุคคลที่ได้รวบรวมกันจัดตั้งองค์การขึ้นมา เพื่อจะได้เสนอเป็นตัวแทนเข้าสมัครรับการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลดำเนินการปกครองประเทศ
 หยุด แสงอุทัย (2503: 184) อธิบายว่า พรรคการเมือง คือ คณะบุคคลซึ่งรวบรวมกัน เพราะมีความเห็นในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ในแนวทางใหญ่ตรงกัน และมีความมุ่งหมายที่จะเป็นรัฐบาลอำนวยการปกครองตามความคิดเห็นนั้น ๆ
                โกวิท   วงศ์สุวัฒน์ (2543: 97) อธิบายความหมายพรรคการเมืองว่า คือ กลุ่มบุคคลที่รวมกันขึ้นเพื่อแสวงหาอำนาจทางการเมือง ตามวิถีทางของแต่ละรัฐซึ่งกำหนดไว้
สรุปได้ว่า พรรคการเมือง คือ คณะบุคคลที่มารวมกันมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาอำนาจทางการเมือง เหนือพรรคการเมืองอื่นหรือนัยหนึ่ง คือ เป็นรัฐบาลนั่นเอง
                2. หน้าที่ของพรรคการเมือง
 ปรีชา   หงษ์ไกรเลิศ (2524: 15-21) ได้อธิบายถึงหน้าที่ทั่วไปของพรรคการเมืองไว้ดังนี้
 2.1 หน้าที่ให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน ในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองมีบทบาทและหน้าที่ที่จะให้การศึกษาอบรมด้านการเมืองแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทราบว่า การปกครองประเทศนั้นมิใช่เป็นเรื่องของชนชั้นใดชั้นหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง   หากแต่เป็นเรื่องของพลเมืองทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน การให้การศึกษาทางการเมืองอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น การอธิบายหรือแถลงนโยบายของพรรคผ่านทางสื่อมวลชน ตลอดจนการเข้าถึงประชาชนโดยตรง เช่น การอภิปราย ปาฐกถา การบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ ตามโอกาส
                2.2 หน้าที่สรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการเป็นผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย เพราะผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นตัวแทนไปทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ผู้ที่จะเป็นผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นบุคคลที่เสียสละ มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการเป็นตัวแทนของราษฎรที่ดี พรรคการเมืองจะต้องทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการกลั่นกรองตัวบุคคลที่เหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนที่ดีของประชาชน
 2.3 หน้าที่ประสานประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้ว กลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์จะมีบทบาทในการสร้างอิทธิพลต่อรัฐบาลในนโยบายสาธารณะ เช่น การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน   การเดินขบวนประท้วงของกลุ่มเกษตรกร เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลยินยอมปฏิบัติตามในสิ่งที่ตนต้องการ ในขณะเดียวกัน กลุ่มนายจ้างก็ไม่ยินยอมที่จะปฏิบัติตาม เพราะต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนไว้อย่างเหนียวแน่น ในการนั้นพรรคการเมืองจะทำหน้าที่ประสานผลประโยชน์ให้กับกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ด้วยการเสนอให้มีกฎหมายแรงงานที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย รวมทั้งกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ ด้วย
 2.4 หน้าที่ในการระดมสรรพกำลังทางการเมือง   พรรคการเมืองจะทำหน้าที่เป็นศูนย์พลังทางการเมือง เพราะเป็นที่รวมของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ และประชาชนที่มีความคิดเห็นทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ในแนวทางกว้าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน เข้าด้วยกันเพื่อหาโอกาสเป็นรัฐบาล ซึ่งจะสามารถนำเอานโยบายของพรรคการเมืองของตนไปปกครองประเทศ พรรคการเมืองจึงเป็นที่รวมในการระดมสรรพกำลังต่าง ๆ เพื่อให้เกิดอำนาจต่าง ๆ เรียกร้องและรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนและกลุ่มของประชาชนต่าง ๆ เพื่อนำมาบริหารประเทศ
                2.5 หน้าที่เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ เมื่อสมาชิกของพรรคได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรฝ่ายเสียงข้างมากในรัฐสภาในกรณีรัฐบาลรูปแบบรัฐสภา ย่อมถือได้ว่า ประชาชนมีความประสงค์ให้นโยบายของพรรคการเมืองนั้น เป็นนโยบายของรัฐบาล ส่วนในรูปแบบรัฐบาลแบบประธานาธิบดี   ประชาชนจะเลือกผู้นำฝ่ายบริหารจากพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดโดยตรง
                2.6 หน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านในระบอบประชาธิปไตย   พรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้งน้อยและไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน   หน้าที่ของฝ่ายค้านนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับระบอบประชาธิปไตย เพราะทำหน้าที่เป็นเสมือนกระจกเงาให้รัฐบาลได้ทราบว่ามีสิ่งใดที่รัฐบาลบริหารงานขาดตกบกพร่องไปบ้าง หรือสิ่งใดที่รัฐบาลควรทำเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ   พรรคการเมืองฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ท้วงติงคัดค้านหรือยับยั้งมิให้รัฐบาลใช้อำนาจเกินขอบเขตจนกลายเป็นเผด็จการโดยเสียงข้างมาก   นอกจากนี้พรรคฝ่ายค้านยังทำหน้าที่ควบคุมให้รัฐบาลปฏิบัติตามนโยบายของตนที่ได้แถลงไว้ต่อสภา
                2.7 หน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางของกลุ่มผลประโยชน์และสมาชิกพรรคการเมืองเนื่องจากพรรคการเมืองเป็นที่รวมของบุคคลหลายกลุ่มหลายอาชีพมากมาย ฉะนั้น โอกาสที่จะเกิดความแตกแยกทางความคิดเห็น จึงมักจะมีอยู่เสมอ พรรคการเมืองจึงสามารถทำหน้าที่เสมือนเป็นเวทีให้สมาชิกต่าง ๆ ของพรรคได้ระบายความอัดอั้นตันใจของตน หรือกลุ่มของตน เพื่อนำไปสู่การตกลงด้วยสันติวิธีก่อนที่จะนำปัญหาต่าง ๆ ไปอภิปรายในสภา โดยนัยนี้เอง พรรคการเมืองเป็นศูนย์กลางในการประสานการติดต่อและสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างมวลสมาชิกของพรรค รวมทั้ง ระหว่างพรรคต่อพรรค ระหว่างพรรคต่อรัฐบาล และระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนทั่วไปด้วย
                2.8 หน้าที่สร้างผู้นำทางการเมือง ในประเทศประชาธิปไตย พรรคการเมืองจะเป็นสถาบันที่สร้างผู้นำทางการเมืองที่ดีเพื่อผลิตออกไปเป็นนักการเมืองอาชีพที่มีความสามารถและพร้อมที่จะดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองในระดับต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการมหานครและนายกเทศมนตรี เป็นต้น สถาบันอื่น ๆ ที่มิใช่พรรคการเมือง ย่อมมีความเหมาะสมน้อยกว่าในการผลิตผู้นำทางการเมือง เช่น สถาบันราชการย่อมมีความเหมาะสมที่จะผลิตผู้นำทางการบริหารหรือข้าราชการที่ดีเท่านั้น แต่มิใช่ผลิตผู้นำทางการเมือง เพราะการเป็นผู้นำทางการเมืองย่อมมีลักษณะแตกต่างไปจากผู้นำทางการบริหารเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ผู้บริหารหรือข้าราชการเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย คำสั่งและระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ซึ่งฝ่ายการเมืองเป็นผู้วางไว้ให้ ส่วนผู้นำทางการเมืองเป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ฉะนั้น นักการเมืองจะต้องเข้าใจการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองของประชาชน การประสานประโยชน์ต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างความสามัคคีของกลุ่มต่าง ๆ ด้วยการวางนโยบายของพรรคและเมื่อพรรคได้เป็นรัฐบาลก็จะต้องเอานโยบายเหล่านี้ไปใช้โดยมีข้าราชการซึ่งเป็นฝ่ายบริหารเป็นผู้ปฏิบัติตาม ฉะนั้นในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองจึงเป็นสถาบันที่ฝึกอบรมและสร้างผู้นำทางการเมืองที่เหมาะสมกว่าสถาบันอื่นใด
 สรุป พรรคการเมืองมีหน้าที่ที่สำคัญได้แก่ หน้าที่ในการให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน โดยการบรรยาย อภิปรายตามโอกาสต่าง ๆ หน้าที่ในการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการเป็นผู้แทนราษฎร เพราะบุคคลที่เป็นนักการเมืองจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะนอกเหนือจากความรู้ความสามารถแล้วต้องเสียสละและมีความรับผิดชอบต่อสังคม หน้าที่ประสานประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์ หน้าที่ทำได้โดยการเสนอกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หน้าที่ในการระดมสรรพกำลังทางการเมือง คน และกลุ่มผลประโยชน์ที่มีแนวทางเดียวกันสามารถมารวมพลังกันกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งถ้าพรรคการเมืองชนะการเลือกตั้งก็จะต้องทำหน้าที่เป็นรัฐบาล เมื่อเป็นรัฐบาลก็จะได้นำนโยบายที่กำหนดไว้ไปใช้ นอกจากจะเป็นรัฐบาลแล้ว พรรคการเมืองก็ต้องพร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เพราะฝ่ายค้านเป็นเสมือนกระจกเงาให้รัฐบาลได้ทราบถึงผลของการบริหารงาน นอกจากนี้ พรรคการเมืองยังเป็นเวทีให้มีการอภิปรายปัญหาต่าง ๆ ก่อนที่จะนำเข้าสู่สภา และพรรคการเมืองยังทำหน้าที่สร้างผู้นำทางการเมืองที่สามารถต่อรองผลประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อประชาชนได้
 3. ระบบพรรคการเมือง
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ (มปป: 116-119) ได้จำแนกพรรคการเมืองในโลกนี้ออกเป็น 3 ระบบ คือ
                3.1 ระบบพรรคเดียว (Single Party System)  ประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการมักจะมีการปกครองระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว ดังเช่น พรรคฟาสซิสต์ของอิตาลีสมัยมุสโสลินียังครองอำนาจอยู่ พรรคนาซีของเยอรมันสมัยฮิตเลอร์ ประเทศในอาฟริกาทั้งหลาย มีการปกครองแบบเผด็จการในรูปลักษณะของรัฐบาลแบบคณะรัฐมนตรีซึ่งมีระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว แต่ก็มิได้หมายความว่าประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะไม่มีระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวก็หาไม่ ซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันในหมู่นักรัฐศาสตร์ที่ยกเอาประเทศสิงคโปร์ และญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างของพรรคเด่นพรรคเดียว (One Dominant Party) กล่าวคือ พรรคการเมืองในประเทศเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะมีพรรคการเมืองอื่น ๆ สมัครแข่งขันอยู่เสมอก็ตาม แต่พรรคใหญ่ ๆ จะครองอำนาจและเสียงส่วนใหญ่ได้อย่างเหนียวแน่นเสมอ เป็นเวลานานหลายสิบปี ในกรณีสิงคโปร์ และญี่ปุ่นนี้บางตำราก็จัดอยู่ในระบบหลายพรรค บางตำราก็จัดอยู่ในระบบพรรคเดียว ขณะเดียวกัน ประเทศอินเดียที่ในอดีตมีพรรคอินเดียเนชั่นคองเกรส (Indian National Congress Party) เป็นพรรคการเมืองเดี่ยว แต่ต่อมาภายหลังพรรคอื่น ๆ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจนพรรคคองเกรสนี้หมดสภาพการเป็นพรรคการเมืองเดี่ยวไป
 3.2 ระบบสองพรรค (Two Party System)   พรรคการเมืองระบบสองพรรคนี้ บรรดานักรัฐศาสตร์ทั้งหลายมีความเห็นเกือบเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นระบบพรรคการเมืองที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ ประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีของความมั่นคงทางการเมืองอย่างมากก็คือ ประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับพรรคการเมืองระบบสองพรรคซึ่งเป็นคู่แข่งกันนั้นมักจะมีความแตกต่างกันในเรื่องที่มีความสำคัญลำดับรองลงมา กล่าวคือ หลักใหญ่ ๆ หรือปรัชญาทางการเมืองมักไม่ผิดแผกกันมากนัก เช่น การเป็นประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม ฯลฯ ดังตัวอย่างของพรรคอนุรักษ์นิยม (The Conservative Party) และพรรคแรงงาน (The Labor Party) ของอังกฤษ กับพรรครีพับลิกัน (The Republican Party) และพรรคดีโมแครต (The Democratic Party) ของประเทศสหรัฐอเมริกา   บรรดาพรรคการเมืองทั้ง 4 นี้ มีปรัชญาและนโยบายใหญ่ในทางประชาธิปไตยผสมกับสังคมนิยม ส่วนข้อแตกต่างอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องรองลงมา เช่น นโยบายการทหาร นโยบายเศรษฐกิจ นโยบายทางสังคม ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว พรรคการเมืองแบบสองแบบนี้เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับธรรมชาติ กล่าวคือ ตามธรรมดามนุษย์เรามักเลือกของในขั้นสุดท้ายซึ่งเหลือแต่เพียงสองอย่าง หลังจากการเลือกแล้วเลือกอีก จนในที่สุดต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
 สรุปได้ว่า บรรดาประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคนี้มักจะมีความมั่นคงทางการเมืองสูงมาก เพราะมีลักษณะพยายามเป็นตัวแทนของคนทุก ๆ กลุ่ม เช่น พรรคอนุรักษ์นิยมก็มีนโยบายที่จะช่วยพวกกรรมกรเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ต่อต้านพวกกรรมกรซึ่งมักจะเป็นสมาชิกพรรคแรงงาน อีกประการหนึ่งก็คือ อุดมการณ์มักจะไม่รุนแรง ไม่เอาใจประชาชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเท่านั้น แต่ต้องพยายามทำให้พรรคเป็นที่ชื่นชมของประชาชนทุก ๆ กลุ่ม
                3.3 ระบบหลายพรรค (Multi-party System)   พรรคการเมืองระบบหลายพรรค คือ ประเทศที่มีพรรคการเมืองตั้งแต่สามพรรคขึ้นไป พรรคการเมืองระบบหลายพรรคนี้เป็นลักษณะของประเทศประชาธิปไตยในยุโรปตะวันตก และ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย บรรดาประเทศเหล่านี้มักจะมีพรรคการเมืองมากกว่าสามพรรค คือ ประมาณห้าหรือหกพรรค จะหาพรรคหนึ่งพรรคเดียวที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภาแทบจะไม่ได้เลย ดังนั้น การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีจึงมักเป็นไปในรูปของรัฐบาลผสม (Coalition Government) โดยบรรดารัฐมนตรีเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองต่างพรรคกัน ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองต้องร่วมมือกัน ตามธรรมดาแล้วก็จะเป็นพรรคการเมืองสองพรรคร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น โดยมีข้อแม้ว่าพรรคการเมืองสองพรรคนี้รวมกันแล้วต้องมีเสียงข้างมากในรัฐสภา ถ้าสองพรรครวมกันแล้วไม่มีสมาชิกรัฐสภาเพียงพอที่จะเป็นเสียงข้างมากได้ก็อาจต้องตั้งรัฐบาลผสมสอง สาม หรือสี่พรรคการเมืองขึ้น ในประเทศไทยครั้งหนึ่งเคยผสมกันถึง 18 พรรค
 พรรคการเมืองในระบบหลายพรรคนี้ เมื่อมีการตั้งรัฐบาลผสมขึ้นนั้น ถ้าผลประโยชน์ขัดกันและการร่วมมือกันไม่มีความมั่นคงแล้ว เสถียรภาพของรัฐบาลก็จะอ่อนแอมาก ดังตัวอย่าง ประเทศอิตาลี คณะรัฐบาลล้มในระยะเวลาอันสั้นติดต่อกัน เนื่องจากพรรคการเมืองซึ่งประกอบเป็นรัฐบาลผสมไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ รัฐบาลก็อ่อนแอและไม่มั่นคง   ส่วนประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ดูเหมือนจะมีความมั่นคงทางการเมืองสูง ถึงแม้ว่าระบบพรรคการเมืองเป็นแบบหลายพรรคก็ตาม คงเป็นเพราะว่าพรรคการเมืองซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลผสมนั้น สามารถร่วมมือและทำงานร่วมกันได้ดี ระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเลือกผู้แทนราษฎรซึ่งมีความคิดเห็นใกล้เคียงกับตัวเองได้มากกว่าระบบสองพรรค กล่าวคือ มีโอกาสเลือกมากกว่า แต่เสถียรภาพของรัฐบาลมักจะน้อยกว่า
 สรุป ระบบพรรคการเมืองแบ่งได้ 3 ระบบ คือ ระบบพรรคเดียว ระบบสองพรรค และระบบหลายพรรค   ระบบพรรคเดียวเป็นการปกครองของระบอบเผด็จการ   ระบบสองพรรคเป็นของประเทศอังกฤษกับประเทศสหรัฐอเมริกา   และระบบหลายพรรคเป็นของประเทศในยุโรปตะวันตกและกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย รวมไปถึงประเทศไทยก็เป็นระบบหลายพรรค   ระบบพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นระบบใดล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การแสวงหาอำนาจทางการเมือง ตามที่วิถีทางหรือรัฐธรรมนูญของแต่ละรัฐกำหนดไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น